รายละเอียดของ Principle 5
(หลักสำคัญสู่การเป็นผู้นำในทุกระดับ)
Principle 2 Accountability (มีความรับผิดชอบ)
2. Accountability (มีความรับผิดชอบ)
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านเคยเห็นคำว่า บทบาท หน้าที่ และรับความรับผิดชอบ ซึ่งมักปรากฎมาพร้อมกันเสมอในหนังสือด้านการบริหารจัดการ ท่านผู้อ่านเคยตั้งคำถามไหมครับว่าเพราะเหตุใดคำสามคำนี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดพร้อมกันเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเรากล่าวถึงผู้นำ ผู้บริหาร และบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลจัดการเรื่องต่าง ๆ ในแต่ละตำแหน่งงาน
บทบาท หน้าที่ คือ สิ่งที่ผู้นำต้องยึดถือปฏิบัติ และมุ่งกระทำอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าบทบาท หน้าที่จะช่วยย้ำเตือนให้เรามุ่งมั่นสู่เป้าหมายและความตั้งใจ บทบาทหน้าที่ทำให้ผู้คนคาดเดาได้อย่างชัดเจนว่าผู้นำจะกระทำหรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยยึดถือการบรรลุเป้าหมายเป็นหลักสำคัญ
โดยสิ่งที่กล่าวมาจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อผู้นำได้ปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ ด้วยความรับผิดชอบ และความรับผิดชอบคำนี้คือสิ่งที่จะเป็นเครื่องการันตีว่าผู้นำจะทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างที่ตนเองมีเพื่อการปฏิบัติภารกิจให้ประสบความสำเร็จ
ความรับผิดชอบ คือ สำนึกของการยอมรับและตระหนักถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามบทบาทและหน้าที่ของตนเอง ไม่ว่าผลการปฏิบัติงานนั้นจะดีหรือไม่ดี ประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
หากผู้นำในแต่ละระดับยึดถือ Principle 2 Accountability (มีความรับผิดชอบ) จะทำให้เกิดพฤติกรรมของการทำงานตามบทบาทและหน้าที่อย่างสุดความสามารถ ทุ่มเททำภารกิจเพื่อให้งานประสบความสำเร็จ เพราะตนเองตระหนักถึงผลที่จะตามมาหากงานสำเร็จจะส่งผลกระทบเชิงบวกอย่างไรมากเพียงใดต่อสังคมที่เขาอยู่
ในทางกลับกัน ก็ระลึกอยู่เสมอว่าหากตนเองทำภารกิจไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะสร้างความเสียหายต่อผู้อื่นอย่างไร สำนึกเช่นนี้ผลักดันให้ผู้นำพยายามแสดงออกตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มที่ หากขาดซึ่งความรับผิดชอบ ผู้นำก็จะย่อหย่อน ละเว้น เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตนตามบทบาท หน้าที่อย่างเคร่งครัด เพราะหากผลลัพธ์ออกมาไม่ดี ก็สามารถหาข้อแก้ตัวได้ง่าย ๆ โทษและโยนความผิดให้กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวไว้ก่อน
นอกเหนือจากความมุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างเต็มที่อันเกิดจากความรับผิดชอบแล้ว เรายังสามารถพบเจอว่าถ้าผู้นำคนใดยึดหลักของความรับผิดชอบเป็นหลักการสำคัญของชีวิต เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่สำคัญกระทบต่อคนจำนวนมาก ผู้นำคนนั้นจะไม่เพิกเฉย หรือทำตัวไม่สนใจ แต่จะยึดอกแสดงตัวเข้าจัดการกับสถานการณ์อย่างสุดกำลังความสามารถโดยไม่ต้องรอให้คนอื่นเรียกร้อง เขาจะไม่เอาแต่โทษคนอื่น ตำหนิหรือต่อว่าคนอื่น ไม่มัวแต่นั่งรำพึงรำพันโทษดวงชะตา และนั่งรอชะตากรรม เรียกง่าย ๆ ว่าไม่มีนิสัยปัดความรับผิดชอบให้คนอื่น คนแบบนี้ท่านผู้อ่านว่าเหมาะสมกับการให้ความเคารพไหมครับ
ท้ายที่สุดไม่ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะสมดังความตั้งใจหรือไม่ เมื่อเกิดความผิดพลาด ผู้นำจะออกมาขอโทษประชาชนของเขาด้วยท่าทีของความจริงใจ และระบุว่าเขาในฐานะของผู้นำขอรับผิดชอบอย่างสูงสุด โดยไม่กล่าวโทษทีมงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง และหากผลลัพธ์ออกมาดีภารกิจประสบความสำเร็จ ผู้นำก็พร้อมที่จะมอบความสำเร็จนั้นคืนให้กับทีมงานและผู้เกี่ยวข้องทุกคน
หากผู้นำคนใดยึดถือหลักข้อที่ 2 เรื่องความรับผิดชอบ (Accountability) เป็นหลักปฏิบัติในการทำงานสิ่งที่ท่านจะได้รับจากทีมงาน หรือ ประชาชนของท่าน คือ การให้ความเคารพและนับถือ (Respect) เขาสามารถก้มหัวโค้งให้ท่านด้วยความรู้สึกนอบน้อมต่อความมุ่งมั่นทุ่มเทในสิ่งที่ท่านทำ และการไม่ปฏิเสธต่อผลแห่งการกระทำซึ่งถือเป็นสิ่งที่ล้ำค่ามาก ๆ
โดยส่วนใหญ่แล้วคนมักจะยอมรับแต่สิ่งที่ตนชอบ สิ่งที่ดี รางวัล คำชมเชย เมื่องานประสบความสำเร็จ แต่เมื่อใดที่งานล้มเหลว เผชิญหน้ากับการถูกตำหนิ ความเสียหาย ความรู้สึกผิดหวัง ความโกรธจากผู้คน
คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ตนเองตกอยู่ในสถานการณ์นี้ จึงเลือกวิธีการปัดความรับผิดชอบให้กับผู้อื่นแทน โดยเชื่อว่าจะสามารถป้องกันตนเองไม่ให้ถูกผู้อื่นโจมตีว่าเป็นสาหตุของความล้มเหลว แต่ในความเป็นจริงยิ่งผู้นำคนใดมีพฤติกรรมปัดความรับผิดชอบ โทษนั่นโทษนี่ นอกจากเขาคนนั้นจะไม่สามารถทำให้คนรู้สึกเคารพได้แล้ว คนยิ่งจะตำหนิติเตียนว่าท่านเป็นผู้ที่ขาดซึ่งวุฒิภาวะของการเป็นผู้นำ
คราวนี้เรามาดูกันต่อนะครับ ว่า Principle 3 Mindfulness (การมีสติ) จะมีรายละเอียดว่าอะไรบ้าง …