รายละเอียดของ Principle 5
(หลักสำคัญสู่การเป็นผู้นำในทุกระดับ)
Principle 3 Mindfulness
(การมีสติ)
3. Principle 3 Mindfulness (การมีสติ)
ภาวะผู้นำที่เห็นได้ชัดเมื่อเกิดวิกฤติ นี่คือวลีเด็ดที่ได้รับการพิสูจน์มานานเท่าที่ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ได้มีการจดบันทึก ในทุกสภาวการณ์ขับคัน แผ่นดินไหว สึนามิ การก่อการร้าย บริษัทกำลังจะล้มละลาย ผู้คน ประชาชนหรือทีมงานจะมองมาที่ผู้นำว่าเขาจะทำอะไร ทำอย่างไรเพื่อนำพาทุกคนฝ่าฝันสถานการณ์เลวร้ายนั้นไปให้ได้ เขาจะจับจ้องดูว่าผู้นำจะส่งสัญญาณใดให้พวกเขายึดถือปฏิบัติไปในทิศทางใด
ลักษณะของภาวะที่เรียกว่าวิกฤตินั้น คือ หลายอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผลกระทบรุนแรงต่อคนจำนวนมาก ยากต่อการจัดการและควบคุม สร้างความสับสนโกลาหล นำไปสู่สภาวะตื่นตะลึง ภาวะชะงักงัน หากผู้คนไม่เห็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ดีเพียงพอจากผู้รับผิดชอบ จะเกิดอาการผิดหวัง หมดหวังแสดงออกซึ่งความโกรธเกรี้ยว และเกิดพฤติกรรมก่อความไม่สงบ ยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์วุ่นวายมากขึ้นไปอีก
เราต่างรู้ถึงผลลัพธ์แห่งความโกลาหล ลองย้อนทบทวนวันที่กรุงเทพกำลังประสบปัญหาอุทกภัยปี 2554 ดูสิครับ ว่าเราต่างสับสนกับทิศทางการดำเนินการรับมือสถานการณ์นั้นอย่างไร เมื่อเกิดวิกฤติผู้คนจึงคาดหวังว่าคนที่เป็นผู้นำจะสามารถจัดการกับสถานการณ์วิกฤติได้ดีกว่าคนทั่วไป
นั่นเป็นที่มาว่า ทำไมผู้นำต้องยึดถือ Principle 3 Mindfulness (มีสติ) เพราะ การมีสติ คือ การรู้ตัวตนว่าตนเองกำลังทำหรือไม่ทำอะไรอยู่ ณ ขณะนั้นด้วยเหตุผลใด การไม่ประมาท ไม่ปล่อยให้จิตใจล่องลอยไปตามสถานการณ์ ปล่อยให้ความคิดฟุ้งซ่านหรือเครียดจนคุมตนเองไม่ได้ ไม่ปล่อยให้ตนเองถูกชักจูงให้หลงทางไปตามบรรยากาศ หรือคำพูดคำจาโดยไร้เหตุผล
ผู้นำที่มีสติ จะมีความสามารถควบคุมอารมณ์ของตนไม่ให้วิตกกังวล มองโลกในแง่ร้าย หรือเครียดจนเกินไป และไม่ให้หลงมองโลกในแง่ดีจนเกินไป อยู่กับปัจจุบัน ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงทำให้พิจารณา แยกแยะ เชื่อมโยง สังเคราะห์สิ่งที่ปรากฎอย่างสมเหตุสมผล ตลอดจนสามารถใช้ความคิดที่โปร่งใสนั้นสร้างความคิดใหม่ ความคิดที่เป็นหนทางสู่การแก้ไขปัญหาอย่างรอบคอบรอบด้าน
ผู้นำที่ขาดสติจะหมดความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ สิ่งที่แสดงออกคือ อาการหงุดหงิด โมโห ก่นด่า ประชดประชันผู้อื่น พฤติกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่แสดงออกว่าผู้นำคนนั้นกำลังขาดสติ ทำให้หลงลืมการประพฤติปฏิบัติตามจริยธรรมที่ตนเองเคยยึดถือ ทุกคนรู้ ทุกคนเข้าใจว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ อะไรทำแล้วคนยอมรับ แต่เมื่อปล่อยให้อารมณ์เข้าครอบงำ ไม่ใช้สติเข้าควบคุม ผู้นำคนนั้นก็จะสูญเสียความน่าไว้วางใจ (Trustworthiness) เมื่อขาดสติแล้ว สิ่งที่เรียกว่า การคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ ความรอบคอบ การไตร่ตรอง ก็จะหายไป ผู้นำคนนั้นจึงขาดอาวุธที่จำเป็นที่สุดในการออกต่อสู้กับสถานการณ์คับขัน จึงยากที่จะเอาชนะศึกนั้นๆได้
ความน่าไว้วางใจ (Trustworthiness) คือ ความเชื่อมั่นที่ผู้คนมีต่อผู้อื่น เปรียบเสมือนคนจะนำหัวใจของเขาซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในร่างกายไปฝากไว้กับใคร คนๆนั้นต้องเป็นคนที่น่าไว้วางใจ เชื่อว่าจะไม่ทำร้าย ทำลายความรู้สึกของเขา ไม่ทำให้เขาผิดหวัง สติของผู้นำในภาวะวิกฤติ ทำให้ผู้นำสามารถใช้ความรู้ความสามารถของตนได้อย่างเต็มที่ ลดความสับสนวุ่นวาย สร้างการสื่อสารที่คลายความกังวล เพิ่มความเชื่อมั่น กำหนดทิศทางของการทำงานอย่างชัดเจน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผสานความร่วมมือ ลดความขัดแย้ง ทำให้ทีมงานมุ่งมั่นไปกับการปฏิบัติภารกิจ ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากการมีสติเป็นลำดับแรก ถ้าเลือกได้เราทุกคนคงไม่นำสิ่งสำคัญที่สุดของเราไปฝากไว้กับผู้ที่ขาดสติแน่นอน เราคงไม่เอาอนาคตของเรา อนาคตขององค์กรไปฝากไว้กับผู้นำที่ไม่น่าไว้วางใจ คนที่เราไม่เชื่อมั่นว่าจะนำพาพวกเราฝ่าวิกฤติไปได้
คราวนี้เรามาดูกันต่อนะครับ ว่า Principle 4 Consistency (มีความสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง) จะมีรายละเอียดว่าอะไรบ้าง …