Generation gap

มีแนวคิดการแบ่งลักษณะของคนออกตามช่วงปีที่เกิด โดยการรวบรวมลักษณะของคนที่เกิดในแต่ละยุค และสรุปออกมาว่าคนที่เกิดในช่วงยุคสมัยเดียวกันมักมีลักษณะวิธีคิดและพฤติกรรมที่คล้ายกัน  ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะแตกต่างจากคนที่เกิดคนละยุคสมัย อันสืบเนื่องมาจากปัจจัยหลายด้านทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยีในแต่ละช่วงเวลาที่ต่างกัน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมีการแบ่งกลุ่มคนเป็น 5 Generation ดังนี้

กลุ่ม Traditional หรือ กลุ่มที่เกิดขึ้นมาในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคที่โลกยังไม่มีวิทยาการหรือองค์ความรู้สมัยใหม่เพียงพอในการแปลงทรัพยากรของโลกออกมาเป็นสินค้าและบริการมากเท่ากับในยุคหลัง เป็นยุคที่ผู้คนยึดถือระเบียบแบบแผนทางสังคมที่ชัดเจน มีธรรมเนียมปฏิบัติที่ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ค่อยมีการแข่งขันหรือการทำงานที่เร่งรีบมากนักเมื่อเทียบกับปัจจุบัน มีการกล่าวกันว่ายุคดังกล่าวแม้มีสินค้าและบริการที่ไม่มากมายเท่ากับยุคหลัง เศรษฐกิจในแต่ละประเทศยังไม่มีการขยายตัวมากนัก แต่เป็นยุคที่ผู้คนมีความสุขมากที่สุด เพราะคนในสังคมมีค่าครองชีพที่ไม่สูงนัก ในปัจจุบันคนกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดพ้นช่วงวัยของการทำงานในองค์กรต่างๆไปแล้ว เป็นช่วงวัยของการแสวงหาความสุขกับเวลาที่เหลืออยู่ในโลกใบนี้ สามารถปล่อยวางหรือปลงกับเรื่องราวต่างๆของโลกอันสับสนวุ่นวายได้เกือบหมดแล้ว

กลุ่ม Gen B  หรือ Baby Boomers  เป็นกลุ่มคนที่เกิดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สืบเนื่องจากการที่โลกสูญเสียประชากรเป็นจำนวนมากในสงคราม กำลังคนที่เป็นแรงงานในการผลิตสินค้าก็ขาดแคลน การฟื้นฟูประเทศ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยการผลิตที่เป็นแรงงานจำนวนมาก ค่านิยมในสมัยก่อนจึงนิยมให้แต่ละครอบครัวมีลูกมาก เพราะจะได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยกันทำมาหากิน เพื่อหนี้จากความยากจนข้นแค้น

สิ่งที่ตามมาภายหลังก็คือ เมื่อประชากรถูกผลิตขึ้นมาเป็นจำนวนมาก มากกว่าที่ทรัพยากรมีอยู่ การแข่งขันกันก็เกิดขึ้นมากกว่ายุคก่อน เนื่องจากมีลูกจำนวนมาก ครอบครัวก็ต้องมีค่าใช้จ่ายมากตาม แต่เศรษฐกิจที่เพิ่งผ่านพ้นช่วงสงครามมายังอยู่ในช่วงค่อยๆฟื้นตัว เด็กที่เกิดขึ้นมาในยุค Baby Boomers นี้จึงมักถูกสอนให้เป็นคนอดทน ขยันทำงาน มีความระมัดระวังสูง และมีนิสัยประหยัดอดออมเป็นอย่างมาก เพราะได้สัมผัสความยากลำบาก ความแล้งแค้นของครอบครัวในช่วงที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ปลูกฝังถ่ายทอดให้คนยุคนี้ไม่กลัวที่จะต้องทำงานหนัก คุณสมบัติเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการต่อสู้ฟันฝ่าเพื่อเริ่มต้นก่อร่างสร้างธุรกิจของตนเอง ทั้งธุรกิจที่เกิดขึ้นมาทดแทนธุรกิจที่หายไปในช่วงยุคสงคราม และธุรกิจใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนจำนวนมากที่เกิดขึ้นมาในยุคนี้  สินค้าต่างๆของไทยที่คุ้นหูท่านผู้อ่าน ก็ถือกำเนิดมาจากฝีมือของกลุ่มคน Gen B ที่ปัจจุบันร่ำรวยเป็นเจ้าสัว เป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่และได้ส่งมอบกิจการของตนเองให้ทายาทขึ้นมาดูแลนั่นก็คือ กลุ่มคน Gen X  ที่ตามมา

กลุ่ม Gen X เป็นกลุ่มคนที่เกิดขึ้นมาในยุคที่โลกเข้าสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดดในทุกวงการ ซึ่งเป็นมรดกที่ต้องกล่าวขอบคุณคนยุค Gen B ที่ได้ทุ่มเททำงานหนักมาตลอดทั้งชีวิตเพื่อฟื้นฟูโลกที่เสียหายจากภัยสงคราม เด็กที่เกิดขึ้นมาในยุค Gen X จึงมีความเป็นอยู่ที่สบายขึ้นกว่าเดิม ถ้าในยุคก่อนเน้นผลิตประชากรโลกขึ้นมาให้ได้มากเป็นยุคที่เน้นปริมาณ  แต่ยุคนี้เป็นยุคที่หันกลับมาเน้นเรื่องคุณภาพประชากรมากขึ้น ครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นจึงมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยเรื่องการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก    ครอบครัวเริ่มมีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น ทีวี ตู้เย็น วิทยุ หรือ ถนนหนทาง การเดินทางและการขนส่งสินค้าสะดวกขึ้น เด็กในยุคนี้ เริ่มมีวีดีโอเกมเล่น บางบ้านก็เริ่มมีคอมพิวเตอร์ให้ใช้แล้ว ยุคนี้เด็กได้รับการศึกษาภาคบังคับ เริ่มมีการสอบวัดความสามารถของเด็กอย่างเป็นจริงเป็นจัง เด็กไม่มีภาระต้องหาเลี้ยงครอบครัวเท่าสมัยก่อน จึงให้เวลากับการเรียนได้อย่างเต็มที่ มีจำนวนมากที่เรียนจนจบปริญญาตรี บางคนเรียนปริญญาโทหรือมีโอกาสได้ไปศึกษาที่ต่างประเทศ เมื่อสำเร็จการศึกษาก็มุ่งหน้าเข้าไปสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นพนักงานในองค์กรธุรกิจ หรือห้างร้านต่าง ๆ ที่เริ่มเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจที่ขยายตัว ทำให้บริษัทต้องการแรงงานเข้ามาทำงานเพื่อรองรับกับการเจริญเติบโตและรับมือกับงานที่เป็นระบบมากกว่าเดิม เพราะมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น นับตั้งแต่วันนั้นกลุ่ม Gen X  จึงกลายเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่รับบทบาทเป็นพนักงานและผู้บริหารในองค์กรต่างๆจนถึงทุกวันนี้

ลักษณะนิสัยโดยรวมของคน Gen X คือ เป็นคนที่ขยันทำงาน รักความก้าวหน้า ได้รับการอบรมความรู้ใหม่ที่คนก่อนยุคนี้ยังไม่มีโอกาสได้เรียน ไม่ได้ยึดติด ทุ่มเทหรือทำงานหนักเพื่อองค์กรเท่ากับคนกลุ่ม Gen B ด้วยเหตุผลที่ว่า องค์กรมีเป็นจำนวนมาก ข้อมูลข่าวสารด้านการทำงานก็เข้าถึงง่ายจากการพัฒนาด้านสื่อสารสนเทศกว่ายุคก่อน โอกาสที่จะแสวงหาองค์กรที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าก็มีมากขึ้น และคนยุคนี้เห็นตัวอย่างของรุ่นพ่อแม่ที่ทำงานหนักมาก จนบางทีก็ไม่มีเวลาดูแลครอบครัวเท่าที่พวกเขาต้องการ หรือไม่มีเวลาสนใจสุขภาพของตนเอง Gen X เห็นบทเรียนเหล่านั้น จึงหันกลับมาสร้างสมดุลให้กับชีวิตมากขึ้น และมีความยืดหยุ่นต่อกฎ ระเบียบมากกว่ายุคก่อน

กลุ่ม Gen Y หรือบางคนเรียกกลุ่ม  Millennium คือ เกิดช่วงยุคปี ค.ศ. 2000 พวกเขาเกิดขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของโลกในเรื่องเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นยุคที่การเข้าถึงข้อมูลเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็วและมีต้นทุนไม่สูงมาก  เด็กกลุ่มนี้ได้รับการดูแลจากครอบครัวอย่างเต็มที่ ด้วยเหตุผลพ่อแม่มีการมีงานทำเป็นหลักฐานมั่นคง สามารถให้สิ่งอำนวยความสะดวกแก่ลูกได้อย่างเต็มที่ ให้การศึกษาที่สูงเท่าที่เป็นไปได้ เด็ก Gen Y เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเพียบพร้อม ความสะดวก ความง่าย และข้อจำกัดที่ลดน้อยลงมากกว่ายุคก่อน  เด็กยุคนี้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว พวกเขาสามารถหาข้อมูลมาหักล้างคำสอนของพ่อแม่  หรือใครก็ตามได้อย่างทันที ทำให้ Gen Y ค่อนข้างมีความมั่นใจในตนเองสูงมาก และไม่ชอบอยู่ในกฎ หรือ ระเบียบที่เคร่งครัด ชอบการใช้ชีวิตแบบอิสระ ไม่ติดกับกรอบใดๆ ทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นตัวของตัวเองสูงมาก ชอบให้คนเอาใจใส่ เหมือนพ่อแม่ดูแลพวกเขา ไม่ชอบทำงานหนัก แต่ชอบทำงานที่ท้าทายความสามารถ อยากก้าวหน้าเร็วในขณะที่อายุยังน้อย เป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่การเข้าทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคง แต่พวกเขาหวังที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเองที่พวกเขาสามารถควบคุมดูแลได้ไม่ยากนักและที่สำคัญต้องสร้างความสุขให้กับพวกเขา

เด็ก Gen Y เริ่มมีจำนวนมากขึ้นในองค์กรต่าง ๆ  พวกเขามาพร้อมกับความสามารถที่หลากหลาย พวกเขาสามารถทำอะไรหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน  และเมื่อหมดเวลางานพวกเขาก็อยากกลับไปเล่นฟิตเนส ดูแลสุขภาพ เข้าสังคมสังสรรค์กับเพื่อนคอเดียวกัน อยากมีโลกที่ให้ความสุขกับพวกเขามากกว่าการทำงาน พวกเขาจึงไม่เห็นความจำเป็นของการทำงานดึก หรือการทำงานหนักเพื่อองค์กรแบบถวายชีวิต พวกเขายึดการบรรลุเป้าหมายไม่ยึดวิธีการ เพราะฉะนั้นถ้ามีภารกิจที่มอบหมายให้พวกเขารับผิดชอบ ท่านต้องบอกเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร เมื่อไหร่ แล้วปล่อยให้พวกเขาจะหาวิธีการและจัดสรรเวลาด้วยตัวเองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ตกลงกัน พวกเขาจะไม่ชอบที่ให้ใครมากำหนดเรื่องเวลาทำงานว่าต้องเข้า ต้องออกกี่โมง หรือกำหนดวิธีการที่บังคับให้พวกเขาใช้ พวกท่านเพียงแค่คอยเป็นพี่เลี้ยง คอยให้กำลังใจ และคอยสนับสนุนให้พวกเขาประสบความสำเร็จในวิถีทางที่พวกเขาได้คิดสร้างสรรค์ออกมาให้ได้มากที่สุด

เมื่อเราพูดถึงปัญหาเรื่อง ช่องว่างระหว่างวัยที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน (Generation Gap) เราจึงมักหมายถึงความแตกต่างและความไม่เข้าใจกันของกลุ่ม Gen X และ Gen Y เป็นส่วนใหญ่ เพราะในทุกวันนี้ Gen X ส่วนมากก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งระดับสูงขององค์กร ไล่เรียงไปตั้งแต่หัวหน้างาน ผู้จัดการ จนถึง กรรมการผู้จัดการ ล้วนอยู่ในกลุ่ม Gen X เกือบทั้งสิ้น ปัญหาก็คือ เมื่อวันนึงที่กลุ่มเด็ก Gen Y เข้ามาทำงานร่วมด้วยและเริ่มทวีปริมาณมากขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้ปัญหาความไม่เข้าใจกันเริ่มมีผลกระทบต่อการทำงานร่วมกัน   มีเรื่องที่ทั้ง Gen X ไม่พอใจ Gen Y และในเวลาเดียวกัน Gen Y ก็ไม่เข้าใจ Gen X

เมื่อทั้งสองกลุ่มมีรูปแบบวิธีการคิด รูปแบบพฤติกรรมที่แตกต่างกัน อันมีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูและบรรยากาศที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยที่ไม่เหมือนกัน สร้างแรงกดดันทำให้ทั้งสองกลุ่มเกิดความเห็นที่แตกต่างและนำพาไปสู่ความแตกแยก ไม่สามารถร่วมงานกันได้ ปัญหาเรื่อง Generation Gap จึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้องค์กรสูญเสียพนักงานรุ่นใหม่กลุ่ม Gen Y ไปอยู่เสมอ โดยมีข้อกล่าวหาทิ้งท้ายว่าเด็กสมัยใหม่ไม่สู้งาน ไม่รู้จักอดทน ทำงานไม่เป็นระบบ ไม่ทุ่มเท ไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์กร เช่นเดียวกัน เด็กที่ออกไปก็อาจตอบกลับมาว่าไม่มีเหตุผลที่ต้องทนทำงานกับหัวหน้างานที่ความคิดเก่าเต่าล้านปี ไม่รู้จักยอมรับสิ่งใหม่ ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ขี้หงุดหงิด เจ้าระเบียบ ทำงานช้า มัวแต่กลัวความผิดพลาดเลยไม่คิดจะลองอะไรใหม่ ยุ่งวุ่นวายกับเรื่องกฎระเบียบไม่เป็นเรื่อง ทำไมไม่ดูที่ผลงานเป็นหลัก

สิ่งเหล่านี้คือคำกล่าวหากันไปกันมาระหว่าง Generation ที่คนทำงานจะพบเจออยู่เสมอ  ท่านผู้อ่านเองก็คงอาจเคยบ่นคำทำนองนี้ออกมาทั้งกับลูกน้องในสำนักงานหรือแม้แต่กับลูกของท่านเองที่พวกเขาไม่ยอมเชื่อฟังท่าน ชอบคิดแปลก ๆ  ไม่ยึดถือกฎระเบียบ เอาแต่ใจ และมักมีข้อมูลมาเถียงท่านอยู่ในหลายครั้ง ลองคิดดูอีกทีนะครับ Gen X  เช่นท่านก็อาจเคยถูกพ่อแม่ที่เป็นคน Gen B บ่นในทำนองเดียวกันว่าไม่ทุ่มเทเท่าคนรุ่นเขา ใช้จ่ายเงินไม่ประหยัด ตามใจลูก หรือ ชอบเปลี่ยนแปลงนู่นนี่ในบริษัททั้งๆที่คนรุ่นเขาก็ทำมาดีอยู่แล้วจนร่ำรวย

ความไม่เข้าใจเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเมื่อเราเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย  เราไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงมีวิธีคิดและพฤติกรรมที่แตกต่างจากเรา ที่สำคัญ คือ เมื่อเราไม่เข้าใจเขา เรายังไม่พยายามหาเหตุผลให้กับเขา แต่เรากลับพยายามเอาตัวเรา เอามาตรฐานและประสบการณ์ที่เราคุ้นเคยมาตัดสินเขา พยายามอยากให้เขาเป็นเหมือนเรา ซึ่งวิธีการทำอย่างนี้ไม่สามารถลดช่องว่างระหว่างวัยที่มีต่อกันได้  การพยายามบังคับให้เขาเป็นเหมือนเรา ก็เสมือนการกำหนดให้เสือว่ายน้ำเก่งเท่าปลา ให้ดวงดาราส่องสว่างเท่าดวงอาทิตย์ ยิ่งฝืนยิ่งเหนื่อย ยิ่งทุกข์ในใจ เพราะไม่มีทางที่สิ่งเหล่านั้นจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวตนของเขาได้  โลกใบนี้หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน เรายังฝืนมันไม่ได้       ปล่อยให้โลกใบนี้เป็นไปแบบที่มันควรเป็น พวกเราทุกคนทำหน้าที่ได้ดีที่สุด คือ การเรียนรู้และทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่อย่างเข้าใจ เปลี่ยนแปลงคนอื่นไม่ได้ แต่เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ไม่ว่าท่านเป็นคน Generation ไหน และต้องอยู่หรือทำงานร่วมกับคนที่ต่างวัยกับท่าน ใช้โอกาสอันดีนี้ในการเรียนรู้โลกของกันและกัน  มีคนพูดอยู่เสมอว่า ที่โลกใบนี้ยังคงน่าอยู่และมีสเน่ห์น่าค้นหา เพราะในแต่ละที่ที่เราพบเจอมักมีสิ่งที่สร้างความแปลกใจและความตื่นเต้นให้กับเรา  การค้นพบและการพัฒนาจึงเป็นรางวัลของการเรียนรู้สิ่งที่แตกต่างจากที่เราคุ้นเคย  ผู้ที่ค้นพบความสุขจากการเรียนรู้เพื่อปรับตัว คือ ผู้ที่ไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางแต่พร้อมที่จะทำให้โลกของเรากับโลกของเขาเป็นโลกใบเดียวกัน ปรับใช้แนวคิดนี้โดยเริ่มต้นจากในครอบครัวของท่าน เรียนรู้เหตุผลของพ่อแม่ ท่านจะไม่โกรธเวลาที่พ่อแม่โทรหาท่านบ่อยๆ ด้วยประโยคคำถามเดิม คือ ทำอะไรอยู่ กินข้าวยัง หรือ วันนี้จะกลับบ้านกี่โมง ถ้าท่านเริ่มต้นพยายามหาเหตุผล ให้กับคนอื่นได้บ้างแล้ว ก็เท่ากับว่าท่านเริ่มถอยห่างจากการหาเหตุผลให้เฉพาะแค่ตนเองมากขึ้น https://www.schoolofchangemakers.com/knowledge/28507/

แค่ผมยกตัวอย่างความไม่เข้าใจกันของ Gen X กับ Gen Y เพียงเล็กน้อย ท่านผู้อ่านก็คงรู้สึกว่าทำไมปัญหาเรื่อง Generation Gap ถึงมีมากมายขนาดนี้ แล้วแบบนี้จะทำงานกันไปได้อย่างไร ไม่ต้องเป็นห่วงครับ มนุษย์มีคุณสมบัติที่ดีที่สุดอยู่ข้อหนึ่ง คือ เมื่อถึงวิกฤติหรือเวลาที่จำเป็น มนุษย์จะปรับตัวเพื่ออยู่รอดเสมอ แต่ในยุคหลังจากนี้

Gen Z   เริ่มเข้ามาทำงานในองค์กร ตอนนั้นคน Gen  X  ที่ยังคงหลงเหลือในองค์กร และคน Gen Y ที่เวลานั้นได้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้บริหารองค์กรแล้ว คงเจอการท้าทายครั้งยิ่งใหญ่สุดที่จะคาดเดา พวกเราคงได้ปรับตัวกันขนาดใหญ่ กับวัฒนธรรม สังคมก้มหน้าที่จะติดตัวเด็ก Gen Z มาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร  พร้อมกับทักษะการเรียนรู้อันน่ามหัศจรรย์ของพวกเขาที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรไปแบบที่เราคาดไม่ถึง  วันนั้นปัญหาระหว่าง Gen X กับ Gen Y ในวันนี้จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยขึ้นมาทันที