Smart officer มาต่อกันในหัวข้อที่เหลือ

5. สามารถรับฟัง ยอมรับ Feedback และนำมาปรับปรุงได้

เคยมีเรื่องขำ ๆ ที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า มีชายคนหนึ่งชื่อว่าลุงดำนั่งเล่นอยู่ริมน้ำ สักพักก็มีผู้ชายคนที่ 1 เดินผ่านมาใกล้ๆพร้อมกับมองที่ลุงดำซึ่งนั่งเล่นอยู่ริมน้ำและตะโกนขึ้นมาอย่างเสียงดังว่า “ไอ้ควาย”

เมื่อลุงดำได้ยินคำว่า “ ไอ้ควาย ” ตะโกนดังออกมา ก็รีบหันไปดูที่มาของเสียง ก็เห็นผู้ชายคนนั้นที่เพิ่งตะโกนเสร็จเดินจากไป เห็นหลังไว ๆ

ลุงดำคิดในใจว่า ตัวเองอาจจะหูฝาดไปก็ได้ เพราะเขากับชายคนนั้นไม่ได้รู้จัก หรือ มีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อน อยู่ดี ๆ จะมาด่ากันทำไม ว่าแล้วลุงดำก็นั่งริมน้ำต่อไป

สักพัก มีผู้ชายอีก 3 คนเดินมาตรงที่ลุงดำนั่ง แล้วชายสามคนนั้นก็ตะโกนขึ้นมาพร้อมกันว่า “ ไอ้ควาย ” แล้วก็เดินจากไป ลุงดำหันไปทันที แล้วคิดในใจว่า  ไอ้สามคนนี้ มันต้องอิจฉาฉันแน่ ๆ ที่ไม่ต้องทำงานหนัก มีเวลามานั่งพักผ่อนริมน้ำสบายใจ ว่าแล้วลุงดำก็นั่งเล่นริมน้ำต่อไป

สักพักก็มีผู้ชายเดินมาอีก 5 คน แล้วก็ตะโกนพร้อมกันว่า “ ไอ้ควาย ” ลุงดำเริ่มโมโห จึงหันกลับไปหาผู้ชายทั้ง 5 คนนั้น แล้วตะโกนสวนกลับไปว่า “ พวกแกมีปัญหาอะไรกับข้า  พวกแกถูกไอ้พวก 4 คนแรกจ้างมาให้ด่าข้าใช่ไหม พวกแกอย่ามายุ่งกับข้า รีบไปให้ไกลๆเลย ”  ชายทั้ง 5 คนได้แต่ยิ้มแล้วเดินจากลุงดำ ปล่อยให้ลุงดำนั่งอยู่ริมน้ำที่เดิม

ลุงดำนั่งครุ่นคิดว่า ไอ้ผู้ชายทั้ง 9 คนที่แกเจอมาในวันนี้มันต้องเป็นพวกจิตไม่ปกติแน่นอน ถึงมายุ่งวุ่นวายกับชีวิตแก มาด่าแกทั้งๆที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องกัน มาพูด มาด่าแกทำไม ลุงดำนั่งคิดไปเรื่อย ๆ

สักพักก็มีชายหนุ่มคนที่ 10 เดินมา แล้วก็ตะโกนเหมือนกับผู้ชายทั้ง 9 คนก่อนหน้านี้ว่า “ไอ้ควาย”

คำถาม คือ ถ้าคุณเป็นลุงดำ เมื่อได้ยินผู้ชายคนที่ 10 ตะโกนมาที่ตัวเองว่า “ ไอ้ควาย ” คุณจะทำอย่างไรต่อไป ?

แต่ถ้าผมเป็นลุงดำคนนั้น  ผมจะรีบมองหาปลักที่มีโคลนเย็น ๆ แล้วเอาตัวเองลงไปนอนแช่  พร้อมหาหญ้าอ่อน ๆ มาเคี้ยวแล้วก็มานั่งสงบจิตสงบใจพร้อมกับทบทวนตัวเองว่าจริง ๆแล้ว เราอาจเป็นควายจริง ๆ อย่างที่เขาว่าก็ได้นะ 555

ผมชอบเรื่องเล่านี้เพราะมันบ่งบอกว่าคนเราโดยทั่วไปมักไม่อยากให้คนอื่นมาวิพากษ์วิจารณ์ มาตำหนิอะไรของตนเอง คนที่มาตำหนิต้องเป็นคนที่ไม่ปรารถนาดี คนที่อิจฉา คนที่มีวาระซ่อนเร้นแน่ ๆ เมื่อคิดดังนี้ก็ปิดหู ปิดตา ปิดใจของตัวเอง แล้วก็ไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาอะไรของตัวเองเลย

“ ไม่มีใคร หรือ อะไรบนโลกใบนี้ที่สมบูรณ์แบบจริงๆ ” ผมเชื่อเช่นนั้นมาตลอด โดยเฉพาะในเรื่องที่

เกี่ยวข้องกับการทำงาน การบริหารงาน การทำงานร่วมกับคน ผมจึงมักจะรู้สึกยินดีเสมอถ้าในการทำงานของเรามีคนคอยบอกเราว่า อะไรที่เราควรต้องปรับปรุง ต้องพัฒนา แก้ไข หรือ ควรเลิกทำมันซะ  ทั้ง ๆ ที่เราระมัดระวังดีอยู่แล้ว ทำงานเต็มกำลังความสามารถอยู่แล้ว วิเคราะห์ วางแผนอย่างเต็มที่แล้ว แต่หลายครั้งที่ทำงานก็มีข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆเกิดขึ้นอยู่เสมอ บางครั้งพฤติกรรมบางอย่างของเราก็อาจทำให้บางคนไม่สบายใจ ข้ามหน้าข้ามตาเขา ถ้ามีใครที่หวังดีกับเรา เตือนเรา บอกเราว่ามากไป น้อยไป ยิ่งช่วยให้เราสามารถลดข้อผิดพลาดลงได้อีกมาก

แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกครับ ในขณะที่เราทุกคนต้องการทำงานให้มีผลงานที่ดีขึ้น ความผิดพลาดลดลง คนในที่ทำงาน หรือเพื่อนร่วมทีมรักใคร่เรา  ทั้ง ๆ ที่เราต้องการแบบนี้อยู่เสมอในการทำงานทุก ๆ วัน  แต่เวลาที่มีคนมาให้คำแนะนำ ให้ Feedback กับเราว่ามีบางอย่างที่เราต้องเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมบางอย่างของเราเป็นปัญหา มีบางอย่างที่เพื่อนร่วมทีมไม่เข้าใจในตัวเรา เรากลับไม่สามารถรับฟังคำแนะนำ หรือ การ Feedback เหล่านั้นได้  เราจะเกิดความรู้สึกหลาย ๆ อย่างขึ้นมาทันที บางส่วนของความรู้สึกเหล่านั้นก็เช่น

“ ฉันก็ทำเต็มที่อยู่แล้ว ยังไม่ดีพออีกเหรอ จะเอาอะไรกันมากมาย”

“ คุณเองก็ยังทำไม่ได้ แล้วคุณจะให้ฉันทำได้ยังไง”

“ สิ่งที่คุณพูดมา ทำให้ฉันรู้สึกต่ำต้อย รู้สึกว่าฉันเก่งไม่เท่าคุณ โง่กว่าคุณ ด้อยกว่าคุณ”

“ คุณไม่เข้าใจสถานการณ์จริง ๆ ที่ฉันเจอหรอก คุณก็พูดแบบนี้ได้นิ”

ความรู้สึกต่อต้านเหล่านี้ เป็นเสมือนกำแพงใหญ่ที่กั้นกลางระหว่างเรากับการพัฒนาไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิม กำแพงนี้ปิดบังใจเราทำให้เราไม่เห็นมุมมองอื่น ๆ ไม่ได้ยินความรู้สึกของหัวหน้า ลูกค้า และเพื่อนร่วมงาน การที่เราเชื่อมั่นอยู่เสมอว่าสิ่งที่เราทำ Perfect แล้ว ไม่สมควรที่จะมีใครมาตำหนิเราได้  นานวันเข้าจะทำให้เราหยิ่งยโส มี EGO สูง ยึดมั่นถือมั่นแต่ตัวเอง ใครแตะต้องไม่ได้ ใครพูดอะไรก็ไม่ฟัง อยากฟังแต่เรื่องที่คนอื่นชื่นชมตัวเอง

พวกเขาลืมไปว่า  “ คำเยินยอ ให้เพียงความสบายใจ แต่ คำแนะนำจะช่วยให้เขาเติบโต”

โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้บริหารระดับสูง ๆ หรือเป็นหัวหน้าคน ถ้าไม่สามารถรับฟัง Feedback จากคนอื่น โดยเฉพาะลูกน้อง และนำสิ่งที่พวกเขา Feedback มาวิเคราะห์ พิจารณาและปรับปรุงตัวเองได้แล้ว ท่านผู้บริหารเหล่านั้นก็จะไม่สามารถพัฒนาตนเองไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะติดกับมายาคติว่าตัวเอง “ ถูกเสมอ ”  หรือ “ ดีที่สุด ”  ซึ่งในการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจเมื่อไม่พัฒนาไปข้างหน้า  เมื่อหยุดอยู่กับที่เป็นเวลานาน ก็เหมือนนับถอยหลังสู่การเสื่อมและการสูญสลาย

หัวหน้าที่ไม่เปิดใจรับฟังลูกน้องก็เหมือนฮ่องเต้ที่ไม่ฟังคำตักเตือนของขุนนางผู้จงรักภักดี บางครั้งขุนนางพูดไม่เข้าหู ไม่สบอารมณ์ บังอาจมาสั่งสอนคนที่เป็นฮ่องเต้ ก็จับขุนนางเหล่านั้นตัดหัวหรือเนรเทศไปอยู่หัวเมือง คงเหลือไว้แต่ขันทีผู้ฉ้อฉนที่วันๆเอาแต่ป้อยอด้วยคำพูดหวานหู ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองก็ไม่ได้รับการแก้ไข พัฒนาให้ดีขึ้น เพราะไม่มีใครกล้าพูดความจริงกับอ่องเต้ เพราะกลัวฮ่องเต้จะไม่ทรงโปรด สุดท้ายฮ่องเต้องค์นั้นก็จะเหลือแต่คนที่ประจบสอพลอ เอาใจ แต่ช่วยแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย

ทั้ง 5 ลักษณะที่ผมยกตัวอย่างให้ท่านเห็น เป็นลักษณะพื้นฐานของคนทำงานที่องค์กรโดยทั่วไปอยากให้พนักงานของพวกเขาเป็นแบบนี้ ซึ่งถ้าองค์กรไหนสามารถคัดเลือกพนักงานที่มีคุณลักษณะพื้นฐานดังกล่าวนี้ให้เข้ามาร่วมงานได้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าด้วยข้อจำกัดต่างๆที่เกิดขึ้นในระบบการเรียนการสอนของประเทศไทย หรือ สถาบันครอบครัวของบ้านเราไม่สามารถสร้างคุณลักษณะเหล่านี้ให้กับแรงงานของเราได้เท่าที่ควรแล้ว องค์กรต่างๆคงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องสร้างระบบหรือวิธีการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพเพียงพอให้เกิดคุณลักษณะเช่นนี้กับพนักงาน นับว่าเป็นความท้าทายของผู้บริหารองค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรต่าง ๆ

อ่านต่อ smart officer 1