มีหลายครั้งที่ผมรู้สึกแปลกใจว่าทำไม พนักงานไม่ให้ความร่วมมือ บางโครงการ หรือ กิจกรรมที่เราคิดว่าออกแบบได้ดีแล้ว ผู้บริหารทุกคนเมื่อเห็นแผนงานที่เราได้วางกรอบและกำหนดเส้นทางการดำเนินงานไว้ให้ ส่วนใหญ่ก็จะออกปากว่าดี เยี่ยม ใช้ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากพนักงานแน่นอน องค์กรต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน องค์กรเราเห็นแสงสว่างแล้ว… ชมจนที่ปรึกษาตัวลอย เกิดอาการหลงตัวเองไปสักพัก
แต่ไม่นานฟ้าก็ผ่าเปรี้ยง !!! จนทำให้เราสะดุ้งตื่น ขณะที่เราเกือบจะตัวลอยหลุดออกไปนอกโลก ออกไปจากความเป็นจริงที่ไม่เคยมีอะไรแน่นอน อะไรที่เราเคยคิดว่าง่าย เรียบร้อย สบาย ไม่มีปัญหา จากประสบการณ์ในชีวิตอันน้อยนิดของผม กระทุ้งเตือนเสมอว่างานที่ทำให้เราคิดหรือรู้สึกแบบนี้ “มักมีปัญหาตามมาแน่นอน” และความยุ่งยากที่เกิดขึ้นมักมาจากปัญหาที่เราคาดไม่ถึง มองข้ามไป หรือ ปัญหาที่ไม่น่าจะเป็นปัญหา
เมื่อกลับเข้าสู่โลกความเป็นจริง ผมพบว่าบางโครงการไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากพนักงาน หรือแม้กระทั่งคนที่เมื่อ 2 เดือนก่อน ยังเพิ่งออกปากชมว่าโครงการนี้ดีเยี่ยมกระเทียมดอง แต่พอเวลาผ่านมาไม่นาน คนเหล่านี้กลับไม่เข้าร่วมประชุม ไม่ออกความเห็น และทำตัวเงียบหายไปกับสายลมเสมือนไม่เคยรับรู้ว่าตนเองอยู่ในโครงการเหล่านี้ด้วย สอบถามอะไรไปก็ไม่รู้ ไม่ทราบ บางคนถึงขนาดโวยวายออกมาอย่างชัดเจนว่าอยากจะออกจากโครงการแล้ว มีข้ออ้าง 108 ประการ ซึ่งมันน่าสนใจว่าพวกเขามักยกสาเหตุอะไรขึ้นมาอ้างในการ Say No
อย่างที่เคยมีใครสักคนกล่าวไว้ว่า “ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม” ผมจำเป็นต้องค้นหาสาเหตุของปัญหาก่อนว่า เพราะเหตุใดทำไมคนมักไม่ค่อยให้ความร่วมมือ บางคนปฏิเสธไม่อยากเข้าร่วมโครงการ หรือ กิจกรรมขององค์กร ข้อมูลทั้งหมดมาจากการสัมภาษณ์รายบุคคลระหว่างผมกับผู้บริหารและพนักงานที่เคยมีโอกาสได้ร่วมงานมาในหลายช่วงของชีวิตการทำงาน ผมเชื่อว่าคนที่เป็นผู้บริหาร หรือ หัวหน้างานคงเคยเจอสถานการณ์เหล่านี้มาไม่มากก็น้อย ทั้งงานโครงการพิเศษที่ได้มอบหมายให้พนักงานทำเพิ่มเติมจากงานประจำ หรือ แม้กระทั่งงานประจำที่พนักงานต้องทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานแบบไหน มีโอกาสไม่ได้รับความร่วมมือทั้งจากพนักงานของเราเอง หรือ แม้แต่ฝ่ายงานอื่นที่เราต้องประสานงานด้วยเท่าเทียมกัน
พนักงานไม่ให้ความร่วมมือ เพราะ…
รู้สึกว่าไม่มีประโยชน์
ถ้าลงแรงไปแล้ว แต่รู้สึกว่าไม่มีประโยชน์อะไรเกิดขึ้นจากการทำ คนจะคำนวณโดยอัตโนมัติว่าเกิดความไม่คุ้มค่า ทำไปก็ไม่เห็นจะมีอะไรเป็นประโยชน์ต่อเขา เสียเวลา เอาเวลาไปทำประโยชน์อย่างอื่นแทนดีกว่า กลุ่มที่รู้สึกแบบนี้แยกเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มที่ 1 รู้สึกว่าโครงการ หรือ กิจกรรมที่องค์กรหรือหัวหน้ามอบหมายให้ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้องค์กรเท่าที่ควร เอาเวลาที่ตนเองต้องทุ่มเทลงไปในโครงการพิเศษเหล่านั้นไปทำงานประจำของตนเองที่องค์กรมอบหมายเป็นภารกิจหลักให้ดีที่สุดดีกว่ามาเสียเวลากับเรื่องพวกนี้ จะช่วยสร้างประโยชน์ให้องค์กรมากกว่างานที่เพิ่มเข้ามา หรือ กลุ่มที่ 2 รู้สึกว่างานที่เพิ่มเข้ามาเป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลงานของตนเอง ไม่ได้มีเงินพิเศษให้ ทำไปแล้วก็ไม่ได้เอามาคิดพิจารณาตอนสิ้นปี ไม่รู้จะทำเพิ่มไปทำไม เงินเดือนก็ได้เท่าเดิม องค์กรจ้างให้มาทำอะไรก็ทำตาม JD ก็ถือว่าจบกัน การลงไปช่วยทำภารกิจเหล่านั้นไม่สร้างประโยชน์ให้กับตนเองเพราะฉะนั้นเลือกที่จะปฏิเสธไม่เข้าร่วมโครงการดีกว่า https://www.noppol.net/uncategorized/no-collaboration/
ไม่เห็นด้วยกับวิธีการนั้น
หลายโครงการที่ตัวหลักการดี กรอบการดำเนินงานดี แต่วิธีการดำเนินงานอาจไม่ถูกใจใครบางคน ซึ่งเป็นเรื่องปลีกย่อย แต่เมื่อคุณทำงานกับคนหมู่มาก คุณจะพบเจอว่า เมื่อวิธีการดำเนินงานบางอย่างไม่เป็นไปตามที่เขาเสนอมา หรือ ตามวิธีการคิดของเขา เขาก็จะรู้สึกไม่อยากทำขึ้นมาเฉยๆ ตัวอย่างเช่น เรามีโครงการสร้างความร่วมมือกับบริษัทที่เป็นคู่ค้าของเรา มีการตกลงกรอบการดำเนินงานมาว่าอยากให้มีการจัด กีฬาเชื่อมความสัมพันธ์กันระหว่างสองบริษัท ก็มีการโหวตร่วมกันว่าอยากจัดกีฬาอะไรบ้าง ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมตกลงร่วมกันว่าอยากแข่งฟุตบอล แต่มีอยู่ท่านนึงเสนอว่าอยากให้แข่ง แบดมินตัน เพราะเป็นกีฬาที่ไม่มีการปะทะกัน ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการกระทบกระทั่งกัน แต่เมื่อผลสรุปออกมาว่าจะเป็นการแข่งฟุตบอล ผู้บริหารท่านนั้นที่เสนอให้แข่งแบดมินตัน ก็ไม่เข้ามาร่วมกิจกรรมนั้นเลย เมื่อผมไปสอบถามท่านก็ชี้แจงว่าบริษัทเก่าของท่านเคยแข่งฟุตบอลแล้วมีปัญหาทะเลาะกันในสนาม ท่านคิดว่ามันมีความเสี่ยงเกิดขึ้น และอาจจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่เราจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาหากเลือกแนวทางที่มีการโหวตนั้น
ไม่มีเวลาทำ
มีหลายครั้งที่คนชอบพูดว่า ไม่มีเวลา ทั้งที่จริงแล้วเราทุกคนมีเวลา ไม่ใช่ไม่มีเวลา แต่เราแค่จัดลำดับความสำคัญของภารกิจแตกต่างกัน แน่นอนเรามีเหตุผลในการเลือกงานอื่นที่คิดว่าสำคัญมากกว่างานที่เข้ามา แต่ข้ออ้างเรื่องไม่มีเวลา มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธเมื่อเราไม่อยากทำอะไรบางอย่าง แต่บางทีก็น่าเห็นใจนะครับ เพราะบางบริษัทก็โหลดงานให้พนักงานมากเกินไปจริง โดยเฉพาะคนไหนที่ทำงานได้ ก็มักจะถูกมอบหมายภารกิจให้มากมายตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ เรียกว่างานไหนงานนั้นต้องเห็นหน้าเห็นชื่อแต่คนนี้ องค์กรเป็นพันคน แต่ใช้งานได้ไม่กี่คน บางคนวิ่งรอกทั้งวัน มาประชุมโครงการไม่ได้เพราะผู้ใหญ่เรียกประชุมด่วน ต้องไปเจอลูกค้า เวลาที่เราเลือกใครมาเข้าร่วมโครงการ เจอกรณีแบบนี้ก็พูดยาก เพราะภารกิจที่เขาได้รับมอบหมายอื่นก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่ก็มีบางพวกอ้างว่าไม่มีเวลาทำงานนี้ แต่มีเวลาไปนั่งเม้ามอยผู้บริหาร ดู facebook สั่งซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ต เล่นไลน์ ขายเครื่องสำอางค์ในเวลางาน เวลาเลิกงานปกติ 16.30 น. แต่หายออกไปเตรียมตัวกลับบ้านตั้งแต่ 16.00 น. แบบนี้เรียกว่า บริหารเวลาไม่เป็นจนเสียโอกาสในการพัฒนาตนเอง
ไม่ชอบคนที่เกี่ยวข้องเป็นการส่วนตัว
เป็นความไม่พอใจส่วนบุคคล รู้สึกว่าถ้ายอมทำเหมือนเป็นการลดเกียรติ ก้มหัวยอมรับอำนาจของคนนั้น เลยคิดที่จะแสดงออกให้เห็นถึงการไม่ยอมรับอำนาจ หัวหน้าสั่ง ฉันไม่ทำซะอย่างใครจะทำอะไรได้ ฉันก็อยู่แบบนี้มานานแล้ว คุณเป็นใครมาจากไหนถึงมาสั่งโน่นสั่งนี้ หรือหากจำเป็นที่ฉันต้องทำงานนั้นจริง ฉันก็จะทำแบบไม่เต็มที่ ทำเพื่อปัดให้จบเป็นครั้งๆไป มาเข้าประชุมแต่ฉันก็จะไม่แสดงความคิดเห็น นั่งหลบหลังห้อง ฉันขี้เกียจแสดงความคิดเห็นอะไรออกไปเดี๋ยวก็สร้างความไม่พอใจให้ใครในที่ประชุมอีก บางทีก็คิดว่า กลัวว่าทำงานนี้ไปแล้วคนที่เราไม่ชอบหน้าจะได้ผลงานความดีความชอบ หลายคนจึงเลือกปฏิเสธเข้าร่วมโครงการ หรือ รับมอบภารกิจบางอย่างเพราะไม่ชอบหน้าคนที่ต้องร่วมงานด้วย สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ คนที่มีเหตุผลแบบนี้ก็มักจะมีปัญหาไม่ชอบหน้ากับคนอื่นไปทั่ว ทำงานกับคนโน่นก็ไม่ได้ ทำกับคนนี้ก็ไม่ได้ มองหาแต่ข้อบกพร่องของคนอื่น แต่ไม่เคยสำรวจข้อบกพร่องของตนเอง แบบนี้ทำงานกับใครก็ยาก แทนที่จะได้เพื่อนใหม่จากการทำงานร่วมกัน กลับขังตัวเองอยู่ในความคิดแคบๆ ทั้งที่คนอื่นที่ร่วมงานด้วยอาจไม่เคยคิดในแง่ลบกับคนเหล่านี้
รู้สึกถูกเอาเปรียบ เหนื่อยคนเดียว
ต้องแบกความรับผิดชอบอยู่คนเดียว เวลาต้องทำงานร่วมกันเพื่อนร่วมงานมักไม่ค่อยให้ความร่วมมือเต็มที่ มีอะไรก็โยนมาให้เราคิด ตัดสินใจและลงมือทำเองตลอด มีชื่อผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากแต่เวลาทำงานจริงกลับไม่มีคนลงมาทำ ก็ต้องเป็นเราอีกเช่นเคย แบบนี้สู้ปฏิเสธตั้งแต่ต้นดีกว่า เหนื่อยก็เหนื่อยคนเดียว แต่เวลาเอาหน้ากลับมากันอย่างพร้อมเพรียง ผมเจอผู้บริหารและพนักงานเก่งๆหลายคนบ่นเรื่องนี้ให้ฟังหลังจากได้ร่วมโครงการกันมาสักระยะ พอจะมีโครงการใหม่มาต่อยอด คนกลุ่มนี้มักออกอาการไม่ค่อยอยากเข้ามาร่วมด้วยสักเท่าไหร่แล้ว เพราะเหมือนความรับผิดชอบทุกอย่างจะมาตกลงที่เขา และด้วยความที่พวกเขาเมื่อได้รับมอบหมายแล้วก็มักจะมีความรับผิดชอบสูง ต้องทำให้งานออกมาสำเร็จให้ได้ตามที่คาดหวัง กลับบ้านดึกดื่นต้องทำให้เสร็จ วันหยุดก็ต้องมาเคลียร์งาน บางทีพวกเขาก็เครียด วิตกกังวลว่าจะทำออกมาได้ไม่ดี ทำให้เสียชื่อเสียงการทำงานที่สะสมมา เลยขออยู่วงนอกบ้าง ให้คนอื่นได้เข้ามาทำงานเหล่านี้แทนพวกเขาบ้าง เขาเหนื่อยมาเยอะแล้ว
ไม่ทำก็ไม่มีผลอะไรตามมา
เพราะจากประสบการณ์ของคนทำงานหลายคนได้พิสูจน์แล้วว่า งานจำนวนมากที่ได้รับมอบหมายพิเศษเพิ่มขึ้นมาไม่ได้รับการเอาจริงเอาจังเท่าที่ควร ผู้บริหารก็แค่รับนโยบายมาจากบอร์ดบริหาร หรือผู้บริหารระดับสูงกว่าเท่านั้นเอง เอางานมาเพิ่มให้เราก็เพื่อเอาหน้า ให้มีผลงานเวลาที่ต้องนำเสนอผลงานประจำปี ไม่ได้จริงจังอยากเห็นการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม มาสั่งแล้วก็ไม่ลงมาดูแล จากที่ผ่านมารู้สึกว่าผู้บริหารหรือหัวหน้าก็แค่พูดไปเรื่อย เมื่อผู้บริหารไม่ใส่ใจเอาจริงเอาจัง แล้วทำไมเราต้องมุ่งมั่นทำงานนั้นให้สำเร็จด้วยหล่ะ เอาว่าช่วงไหนว่างก็ค่อยมาทำ ค่อยมาประชุม เข้าบ้างไม่เข้าบ้างก็ไม่มีผลอะไร ผู้ใหญ่ก็ไม่ว่า เพราะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับงานที่มอบหมาย เวลาถูกบอร์ดบริหารตามมาทีก็ค่อยมาเร่งพวกเรา พวกเราค่อยกระตือรือร้นตอนนั้นก็ได้ ไม่มีการประเมินผล ไม่ทำก็ไม่ว่าอะไร สักพักพอเลิกเห่อโครงการนี้ เดี๋ยวผู้บริหารก็เลิกตามไปเองเหมือนกับหลายโครงการที่ผ่านมา และสุดท้ายทุกอย่างก็วนเข้าสู่วงจรเดิม เหมือนกับที่พนักงานนินทาบริษัทตัวเองว่าทำมาแล้วทุกโครงการที่บริษัทดังเขาทำกัน แต่วันดีคืนดีโครงการเหล่านั้นก็เงียบหายไปแบบไร้ร่องรอย แล้วก็ไปสรรหาโครงการชื่อเท่ห์แบบใหม่มาให้พนักงานลองทำอีก วนแบบนี้ไปเรื่อยจนพนักงานเกิดภาพจำว่า ทำหรือไม่ทำก็ไม่มีผลอะไรตามมา ก็อยู่กันแบบนี้ไปอีกนาน
ไม่รู้สึกสนุกกับสิ่งที่ทำ
งานโครงการหรือกิจกรรมพิเศษที่องค์กรจัดขึ้น บางงานก็สนุก ง่าย สั้น จัดเป็นครั้ง ๆ จบแล้วจบ ซึ่งงานเหล่านี้คนมักให้ความร่วมมือ เหมือนการลงแขกเกี่ยวข้าว ที่เฮกันไปแล้วก็จบ ถือว่าไปสนุกสนานร่วมกัน ไม่มีการผูกมัดในระยะยาว แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ โครงการหรือกิจกรรมที่มีลักษณะแบบนี้มักได้ประโยชน์ในแง่ของการสร้างบรรยากาศ กระตุ้นความรู้สึก หรือ อารมณ์ร่วมของกลุ่มคน แต่ไม่ค่อยได้เห็นผลขอการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาในระยะยาวที่เป็นรูปธรรม เหมือนคนชอบจัดงานเป็น Event แต่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับการปรับปรุงโครงสร้างการทำงาน หรือระบบสักเท่าไหร่ เพราะงานที่เป็นโครงการที่จะสร้างผลการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในองค์กร ส่วนมากมีลักษณะเป็นโครงการต่อเนื่อง ใช้ระยะเวลายาวนาน เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก บางงานก็เป็นงานที่ยาก ไม่สนุก เครียดเพราะมีผลกระทบเยอะ เมื่อคำนวณแล้วว่าจะต้องเอาตนเองเข้าไปพัวพันกับงานที่มีลักษณะแบบนี้ คนจึงเลือกที่จะปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ แต่ก็ยังทิ้งท้ายไว้ว่า “แต่มีอะไรให้พี่ช่วยก็บอกได้นะ” ซึ่งในความหมายของคำพูดนี้ก็คือ “ถ้ามีงานอะไรสนุกๆ สั้นๆ จัดเป็นครั้งคราว บอกพี่ด้วยนะ”
ไม่มีเป้าหมายในชีวิต
ถ้าไม่โลกสวยจนเกินเลย เราจะพบว่าคนทำงานจำนวนมากไม่ได้มีเป้าหมายในชีวิตการทำงานทุกคน แต่ทุกคนต้องการเงินเดือนขึ้นทุกปี ต้องการโบนัสสูงทุกปี แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้อยากเรียนรู้ทักษะอะไรใหม่ ไม่มีความกระตือรือร้นอยากพัฒนาตนเอง ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ขอแค่อยู่ไม่โดนนายด่าก็พอใจ อย่ามายุ่งกับฉัน ให้คนอื่นที่เขาอยากก้าวหน้าทำงานเหล่านี้ไปเถอะ ฉันพอแล้ว ไม่ได้หวังก้าวหน้ากว่านี้อีกแล้ว ไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร บางคนนอกจากไม่มีเป้าหมายในชีวิตแล้ว นิสัยส่วนตัวก็เป็นคนขี้เกียจมาแต่เดิม เลือกที่จะรับงานให้น้อยที่สุด มีความสุขที่สุด คือ ไม่ต้องมีคนมาวุ่นวายกับฉัน เพราะฉันก็จะไม่วุ่นวายกับใคร แต่ในทางตรงกันข้าม คนกลุ่มนี้จะมีความสุขมากเวลาที่ได้มองหาสถานที่เที่ยวสำหรับวันหยุดยาว พวกเขาจะกระตือรือร้น แววตามีประกายของความเป็นอัจฉริยะเวลาที่ค้นพบสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ที่ไม่เคยไป สามารถจองตั๋วเครื่องบินราคาถูกทันช่วงโปรโมชั่น และพฤติกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาทำงาน สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนถึงพลังอันแฝงเร้นจากการที่คนมีเป้าหมาย หรือไม่มีเป้าหมายกับเรื่องใด เขาไม่อยากทำงานที่ได้รับมอบหมายเพราะเขาไม่มีเป้าหมายกับเรื่องนั้น เขารู้สึกว่าเรื่องนั้นไม่เกี่ยวข้องกับเขา เป็นเรื่องของคนอื่น เป็นเรื่องขององค์กร เขาไม่ได้เป็นเจ้าของหรือเจ้าภาพที่มีเป้าหมายของการทำงานนั้นให้สำเร็จ แต่กับเรื่องท่องเที่ยววันหยุดเป็นเป้าหมายสำคัญของเขา เขาจึงเต็มที่กับภารกิจนั้น รู้สึกสนุกกับมัน ทำให้เขาสามารถนั่งหาข้อมูลอดหลับอดนอนได้ถึงดึกดื่นก็ไม่ใช่ปัญหา
สำหรับการทำโครงการหรือกิจกรรมอะไรให้สำเร็จ สำหรับผมแล้วถือเรื่องการสร้างความร่วมมือให้คนในองค์กรเป็นส่วนสำคัญที่สุด ยาที่ดีเพียงใด หากผู้ป่วยไม่ร่วมมือทานยาครบถ้วนตรงเวลา ก็ไม่มีทางที่อาการไม่สบายจะหายได้ หรือกว่าจะหายก็ใช้เวลานานมาก โครงการที่ดีเพียงใด หากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารหรือพนักงาน โครงการเหล่านั้นก็จะเกิดขึ้นและหายไปอย่างไร้ความหมายในที่สุด