4 Steps to Excellence for
ผมเพิ่งรับทำโครงการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture and Value)ให้กับองค์กรขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่มีพนักงานในเครือรวมกันกว่า 5,000 คน โดยระยะที่ 1 ใช้เวลาประมาณ 1.5 – 2 ปี ซึ่งภายใต้โครงการดังกล่าวนี้องค์กรมีเป้าหมายอยู่ประการหนึ่งที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนว่า อยากให้องค์กรและพนักงานของเขาก้าวไปสู่ความยอดเยี่ยม (Excellence) และนั่นเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถของการเป็นที่ปรึกษาพอสมควร
ผู้บริหารองค์กรแห่งนั้นตั้งคำถามแรกกับผมว่า “องค์กรแบบไหนที่เรียกว่ายอดเยี่ยม ซึ่ง อ.นพพลจะเข้ามาช่วยสร้างให้กับผมได้เห็นภายใน 2 ปีนับจากนี้ไป” และนี่คือคำตอบที่ผมตอบกับผู้บริหารท่านนั้น
1.องค์กรที่กล้าตั้งมาตรฐานความสำเร็จให้สูง
ผมเชื่อว่าองค์กรที่กล้าตั้งมาตรฐานความสำเร็จที่สูง แสดงออกถึงความเชื่อมั่น ความเอาจริงเอาจังกับสิ่งที่ทำ และสะท้อนให้เห็นถึงความทุ่มเทอย่างสุดความสามารถ มาตรฐานที่สูงทำให้เราจริงจังกับสิ่งที่ทำ เช่น เมื่อเรารู้ว่าโรงงานกำลังจะขอใบรับรองคุณภาพมาตรฐานต่างๆ ระดับสากล เช่น ISO , HACCP, HALAL เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่ประเมินมาตรวจสอบ เราจะกระตือรือร้นในการเตรียมเอกสาร เตรียมการต้อนรับ เตรียมข้อมูลมากมายที่ใช้ประกอบการพิจารณา เรายินดีที่จะปรับเปลี่ยนวิธีและขั้นตอนการทำงานตามที่เจ้าหน้าที่เสนอเพื่อให้ได้รับมาตรฐานเหล่านั้น เราจะเต็มที่และจริงจังกับการทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมาเพราะเชื่อว่าบริษัทของเราจะได้รับการยอมรับในระดับสากล
มาตรฐานที่ต่ำ หรือ ไม่มีมาตรฐานอะไรเลย ทำให้เราละเลยและเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ความสนใจและการเอาใจใส่ของเราน้อยลงตามไปด้วย ความคิดที่ว่าไม่ต้องใช้ความพยายามมากมายในการไปสู่เป้าหมาย เพราะมองเห็นสิ่งที่จะทำเป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ต้องจริงจังหรือระมัดระวังให้ยุ่งยาก ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับความรู้สึกนึกคิดแบบนี้เป็นบ่อเกิดของความขี้เกียจ มันทำให้เราประมาทและลืมที่จะสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว เราจะติดใช้มาตรฐานต่ำแบบนั้นกับอีกหลายเรื่องในชีวิต ท่านผู้อ่านลองนึกภาพของเด็กที่ตั้งมาตรฐานตัวเองว่าครั้งนี้ต้องสอบให้ได้เกรดไม่ต่ำกว่า 3.5 กับเด็กที่คิดว่าเกรดเท่าไหร่ก็ได้เอาว่าไม่สอบตกก็พอแล้ว ผมเชื่อว่าเด็กสองคนนี้จะลงแรงในการเรียน การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ความขยันในการเตรียมสอบ ความมุ่งมั่นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เวลาที่ผมทำงานกับลูกน้อง ผมจะบอกพวกเขาเสมอว่าผมต้องการงานที่ดีที่สุดที่พวกเขาทำได้ อย่าทำแล้วคิดว่าอะไรก็ได้เดี๋ยวผิดมาผมก็แก้ให้เอง อย่าทำงานแบบลวกๆเอาแต่เสร็จโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของงาน ผมเชื่อว่า “คุณภาพของงานสะท้อนให้เห็นคุณภาพความคิด และคุณภาพของคนคนนั้น ดังนั้นเวลาทำอะไรก็ตามคุณต้องตั้งใจให้เต็ม 100 %” เพื่องานที่มีคุณภาพที่สูง ทำอย่างสุดกำลังความสามารถ ทำให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ความสามารถของคุณมี อย่าให้คนอื่นพูดได้ว่าคุณมีมาตรฐานการทำงานที่ต่ำเพราะมันเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของตัวคุณต่อทุกเรื่องที่คุณเข้าไปมีส่วนรับผิดชอบ
สินค้าที่ประทับว่า Made in Japan มักได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงเมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศอื่นในเขตภูมิภาคแถบนี้ ไม่ว่าสินค้าชิ้นนั้นจะถูกผลิตจากผู้ประกอบการรายใดในประเทศญี่ปุ่น เมื่อมีคำนี้ปรากฎอยู่ที่ตัวสินค้า คนทั่วโลกจะยอมรับว่าเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานสูง ไว้วางใจได้ มีระบบการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพที่ดีมาก คนซื้อก็สบายใจ มั่นใจเมื่อต้องเอาสินค้านั้นไปใช้ คนขายก็ไม่ต้องมานั่งโกหกสร้างภาพไปวัน ๆ สินค้าที่ดีมีคุณภาพสูงถือเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์บริษัทที่ผลิตได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่วูบวาบตามกระแสที่เกิดจากการโหมโฆษณาซึ่งสวนทางกับคุณภาพจริงของสินค้านั้น
ลองคิดเทียบกับสินค้าที่ประทับว่า Made in China ผมเชื่อว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นสวนทางกับความรู้สึกที่เรามีต่อสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง ไม่ได้แปลหรือเหมารวมว่าสินค้าทุกชิ้นที่มาจากประเทศจีนจะเป็นสิ่งไม่ดี ไม่มีคุณภาพเสียทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่าความรู้สึกของผู้บริโภคต่อสินค้าจากแหล่งผลิตทั้งสองนั้นยังแตกต่างกันพอสมควร ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหากจะสร้างให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคงต้องใช้เวลานานพอสมควรเพื่อพิสูจน์ให้ผู้บริโภคเชื่อว่ามาตรฐานของเราสูงจริงตามที่เขาคืด
2. องค์กรที่ทุ่มเทฝึกซ้อมจนเกิดทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะ
ถ้าคุณเป็นนักกีฬาและไม่อยากลงสนามเพื่อไปรับความพ่ายแพ้เหมือนครั้งอดีต สิ่งที่คุณสามารถทำได้ดีที่สุดเพื่อชัยชนะในครั้งนี้ คือ การฝึกซ้อมให้มากที่สุด มากจนคุณเกิดทักษะ มีความชำนาญที่โดเด่นในการเล่นกีฬาประเภทนั้นเหนือกว่าคู่แข่ง นักฟุตบอลที่ได้รับการยกย่องว่ายิงลูกตั้งเตะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดคนหนึ่งของโลก คือ เดวิด เบคแฮม คุณรู้หรือไม่ว่าเขาต้องฝึกซ้อมยิงลูกแบบนั้นวันละกี่ลูก เมื่อคุณฝึกซ้อมมากเพียงพอจนเกิดทักษะเฉพาะที่คนอื่นเลียนแบบไม่ได้ ความแม่นยำจะตามมา ความผิดพลาดจะลดลง เพราะคุณได้จำลองสถานการณ์ต่างๆไว้แล้วตอนฝึก ยิ่งฝึกมากเท่าไหร่ ยิ่งคาดหวังความแม่นยำของผลลัพธ์ได้มากเท่านั้น
ในสมัยหนึ่งมีการกล่าวกันว่าสาเหตุหลักที่ทำให้กีฬาของประเทศไทยไม่ก้าวหน้าไปจากอดีต นักกีฬาไม่สามารถทำผลงานได้ดีในการแข่งขันระดับสากลอย่างเอเชี่ยนเกมส์ หรือ โอลิมปิกเกมส์ นอกจากรูปร่างที่เป็นรองคู่แข่งแล้ว ทักษะความสามารถของนักกีฬาของเรายังไม่ดีพอ มีเสียงเล็ดลอดมาว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะเราไม่จริงจังในการฝึกซ้อมเท่าที่ควร เราไม่ได้จำลองการเล่นจริงให้เกิดขึ้นในระหว่างฝึกซ้อม ทำให้บรรยากาศของการฝึกเป็นไปอย่างสบาย ไม่กดดัน ไม่ท้าทายความสามารถ ทำให้เมื่อแข่งขันจริงนักกีฬาของเราทนสภาพความกดดันไม่ไหวเลยทำผลงานได้ไม่ดี ช่วงหลังเห็นว่ามีการส่งนักกีฬาไปเก็บตัวที่ต่างประเทศมากขึ้น ฝึกซ้อมร่วมกับโค้ชและนักกีฬาต่างชาติที่พวกเขาจริงจังในการฝึกซ้อมเหมือนตอนแข่งขันจริง ผลงานของนักกีฬาบ้านเราก็ดีขึ้นหลายอย่าง
องค์กรที่ต้องการสร้างความยอดเยี่ยม จึงต้องลงทุนกับการพัฒนาผู้บริหารและพนักงานในตำแหน่งต่างๆให้มีความชำนาญเฉพาะด้านที่โดดเด่น โดยผ่านการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถด้วยวิธีการที่หลากหลายอย่างเป็นระบบแล้ว สิ่งที่องค์กรจะละเลยไม่ได้เลยคือ การรักษาความชำนาญเฉพาะด้านขององค์กรที่เหนือกว่าคู่แข่ง เช่น บ. Apple ที่ยังรักษาจุดเด่นในการผลิตโทรศัพท์ที่มีความเสถียรสูง มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับผู้ใช้ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ยังคงมีจุดเด่นในเรื่องของสายส่งที่มีอยู่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ประเทศไทยเป็นต้น
3.องค์กรที่รับรู้และแก้ไขข้อบกพร่องอยู่เสมอ
ประสบการณ์ทำให้ทั้งคนและองค์กรเติบโตขึ้น การเรียนรู้จากสิ่งที่ผ่านมา นั่นคือประสบการณ์ ทำให้เราไม่ต้องเดินซ้ำรอยเดิม บทเรียนเหล่านี้ช่วยให้เราเรียนรู้และเข้าใจสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต องค์กรที่ไม่เคยเรียนรู้จากอดีต ไม่เคยรับรู้ว่ามีข้อบกพร่องเกิดขึ้น ไม่เอาประสบการณ์มาเป็นบทเรียนเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง ไม่ต่างอะไรกับแมงเม่าบินเข้ากองไฟ
ผมพบเจอผู้บริหารจำนวนหนึ่งที่มีความสามารถสูง ประสบความสำเร็จมาระดับหนึ่ง เป็นหัวหน้าคน การศึกษาสูง ทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศไม่ว่าจะเป็นทั้งในภาครัฐหรือเอกชน มีลักษณะบางประการ คือ ไม่ค่อยยอมรับว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่บางครั้งก็มีความผิดพลาดเกิดขึ้น มีความมั่นใจในตนเองสูงมากจนกระทั่งกลายเป็นอัตตา กลายเป็นตัวตน กลายเป็น EGO เวลาใครจะพูดจะบอกถึงความผิดพลาดก็มักไม่อยากฟัง แสดงอารมณ์โมโห เกรี้ยวกราด หลายครั้งที่คนพูดก็ปรารถนาดี แต่กลายเป็นว่าถูกตอกหน้าหงายกลับไปก็หลายหน จนบางคนไม่กล้าที่จะบอกหัวหน้าว่าพวกเขากำลังทำผิดพลาด เมื่อคนกลุ่มนี้ขาดกระจกในการสะท้อนปัญหาก็เลยไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับผลของปัญหาที่เกิดขึ้น เวลาปัญหาลุกลามก็มักแก้ปัญหาแบบเอาตัวรอดไปวันๆ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนที่มีศักยภาพสูง ถ้าพวกเขาเปิดใจให้เตรียมพร้อมรับรู้กับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น หัดสังเกตและมองหาข้อบกพร่องที่ซุกซ่อนอยู่ได้ พวกเขาจะมีเวลา มีโอกาสใช้ศักยภาพที่มีพัฒนาผลงานไปสู่ระดับที่เรียกว่ายอดเยี่ยมได้อย่างไม่ยากลำบากนัก
ทุกครั้งที่ไปนำเสนองาน ต้องเข้าร่วมประชุมกับบุคคลต่างๆ แม้ว่าคุณจะเป็นสุดยอดของนักนำเสนอ แต่ไม่ได้แปลว่าทุกครั้งที่นำเสนอคุณจะประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังได้ 100 % ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร คุณต้องนำประสบการณ์ที่ได้รับแต่ละครั้งมาทบทวนว่าคุณได้เรียนรู้อะไร ได้เข้าใจอะไรใหม่ๆมากขึ้นหรือไม่ บทเรียนที่ได้รับจะช่วยทำนายได้ว่าอนาคตเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ คุณจะควบคุมมันได้มากน้อยเพียงใด
ทุกครั้งที่มีปัญหาไม่เข้าใจกับเพื่อนร่วมงาน แค่เห็นต่างในเรื่องการทำงาน แต่คุยไปคุยมากลับกลายเป็นเรื่องไม่ชอบท่าทีของกันและกัน ไม่ชอบคำพูด สีหน้า แววตาที่ใช้ นำสิ่งเหล่านี้มาทบทวนว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างท่องให้ขึ้นใจเลยครับ “ทุกครั้งที่ลงมือทำอะไรก็ตามจงสังเกตและรับรู้ข้อบกพร่องและหาทางแก้ไขมันอยู่เสมอ”
4. องค์กรที่สร้างการเปลี่ยนแปลง
โลกของการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และรุนแรงจากสมัยก่อนเป็นอย่างมาก ตัวจักรสำคัญที่เร่งอัตราการเปลี่ยนแปลงก็คือ เทคโนโลยี ท่านผู้อ่านคงได้รับทราบข่าวสารของ บ.เทสล่า (Tesla) นำโดยซีอีโอ Elon Musk ที่สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่รัฐเนวาด้า อเมริกา ที่ชื่อว่า Gigafactory เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต สิ่งที่น่าสนใจก็คือ โรงงานแห่งนี้ใช้หุ่นยนต์เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่เต็ม 100% ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมนุษย์อีกต่อไป และไม่ใช่เฉพาะโรงงานแห่งนี้เท่านั้นที่นำหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ แต่ยังมีโรงงานอีกจำนวนมากที่กำลังทำสิ่งเดียวกันนี้โดยเฉพาะในประเทศจีนเองที่ได้ชื่อว่ามีแรงงานราคาถูกก็หนีไม่พ้นคลื่นการเปลี่ยนแปลงนี้ องค์กรที่ยอดเยี่ยมล้วนลงทุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้
องค์กรที่นำการเปลี่ยนแปลง องค์กรที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ คือ องค์กรที่มีวิสัยทัศน์และทุ่มเทเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ให้เกิดขึ้นได้จริง เสมอเห็นอนาคตก่อนคนอื่น ย่อมสามารถเตรียมพร้อมและก้าวได้เร็วกว่าคนอื่น จะกลายเป็นผู้คุมเกม คุมตลาด มีอำนาจต่อรอง สร้างเงื่อนไข สร้างสภาพแวดล้อม สร้างการรับรู้ต่อผู้บริโภค กำหนดมาตรฐาน มีผลต่อการกำหนดกฎ กติกาในอนาคต ย่อมกุมความได้เปรียบมากกว่าผู้ที่ตามมาทีหลัง
ข้อมูลเพิ่มเติม : https://bit.ly/3tXhrDa
หากเรายังไม่สามารถเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในเร็ววัน แต่อย่างน้อยองค์กรของเรา หรือคนของเราต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ท่านผู้อ่านลองคิดถึงภาพในอนาคตอันใกล้นี้นะครับ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าปัจจัยด้านต้นทุนแรงงานไม่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของบริษัทอุตสาหกรรมข้ามชาติ เพราะทุกโรงงานหันมาใช้หุ่นยนต์ (Robot) ผลิต เพราะเมื่อพัฒนาจนเทคโนโลยีเหล่านี้มีราคาถูกแล้วการเข้าถึงก็จะง่ายขึ้น ความได้เปรียบเรื่องต้นทุนแรงงานที่ประเทศเราเคยมีในอดีตอาจหมดไปแล้วเมื่อนั้นเราคงเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปแสวงหาประเทศที่มีปัจจัยสนับสนุนด้านอื่นๆในการทำธุรกิจมากกว่าเรื่องค่าจ้างแรงงาน หากธุรกิจ องค์กร หรือ คนทำงานไม่เตรียมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราก็คงต้องพบเจอกับความยากลำบากพอสมควร