ผู้บริหารยอดแย่
คุณเคยรู้สึกแบบนี้มาก่อนหรือไม่ “งานที่ทำอยู่ก็ยังสนุก เพื่อนร่วมงานก็แสนดีช่วยเหลือกัน บริษัทก็อยู่ใกล้บ้าน และที่สำคัญ เงินเดือนก็ถือว่าใช้ได้ แต่ตอนนี้เบื่อ หมดกำลังใจไม่อยากทำงานที่นี่ต่อไปแล้ว”
ผมไม่แน่ใจว่าเดาถูกหรือไม่ แต่ในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่ามากกว่า 70% ของท่านที่อ่านข้อความนี้ ครั้งหนึ่งของชีวิตการทำงานอาจเคยประสบกับสภาวะอารมณ์ที่ตื่นนอนขึ้นมาแล้วแทบไม่อยากคิดเลยว่าเป็นเช้าของวันทำงานอีกแล้ว ดวงตาที่อ่อนแรง หัวใจที่เหนื่อยล้าและหมดพลังที่จะฉุดให้ลุกขึ้นจากที่นอนอันแสนนุ่มแล้วมาพบกับ “บุคคลปริศนา” ผู้ที่กุมความลับถึงสาเหตุของการหมดกำลังใจในการทำงาน แน่นอนครับเป็นใครไปไม่ได้ เขาคือ บุคคลที่เราเรียกว่า หัวหน้า เจ้านาย ผู้บริหารหรือ Boss ของเรานั่นเอง …
ตอนนี้ใบหน้าของใครคนหนึ่งที่ปรากฎขึ้นมาในหัวท่าน ไม่ต้องกระซิบบอกคนข้าง ๆ ครับ เอาเป็นว่าลองอ่านบทความนี้ให้จบ อาจมีรอยยิ้มเล็ก ๆ ปรากฎขึ้นบนใบหน้าของท่าน พร้อมกับเสียงรำพึงรำพันบอกกับตัวเองว่า ฉันน่าจะหยิบบทความนี้ไปวางใกล้ ๆ โต๊ะทำงานของเขาคนนั้นเสียจริง เผื่อจะได้เปิดอ่านและฉุกคิดอะไรได้บ้าง
คนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหาร หรือ เจ้านายคนได้ ย่อมต้องมีข้อดีจุดเด่นพอสมควร ความจริงข้อนี้ไม่ควรถูกปฏิเสธ แต่โลกเบื้องหน้าที่เราทุกคนพบไม่ได้สวยหรูแบบที่ควรเป็น ข้อดีที่ผู้บริหารของท่านคนนั้นอาจมีอยู่อย่างมากมาย กลับถูกบดบังด้วยพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่น่าอภิรมย์สำหรับคนที่ต้องทำงานด้วย โดยเฉพาะคนที่เป็นลูกน้องซึ่งต้องรับผลกระทบโดยทางตรงและทางอ้อมจากพฤติกรรมดังกล่าวที่เกิดขึ้น
พฤติกรรมของผู้บริหารยอดแย่ ไม่ได้อยู่ดีๆแล้วเกิดขึ้น แต่เป็นการสะสมความแย่มานานหลายปี จนกลายเป็นความชำนาญ กลายเป็นนิสัย ผมเลยอยากขอเปรียบเทียบพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นเสมือน “ช่าง” ผู้มีความชำนาญเฉพาะด้านยากที่ใครจะเลียนแบบได้ ซึ่งพฤติกรรมยอดแย่ของเหล่าผู้บริหารที่ผมอยากหนีให้ห่างมี 4 ช่างดังนี้
-
ช่างปัด (เอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น)
ความผิดผลาดที่เกิดขึ้นในการทำงานเป็นเรื่องปกติ ผิดเพราะไม่รู้ ผิดเพราะเข้าใจคลาดเคลื่อน ผิดเพราะคาดไม่ถึง ผิดเพราะประมาท มีหลากหลายปัจจัยที่หลอมรวมกันแล้วทำให้วันทำงานวันนั้นของท่านมืดมนลง จนรู้สึกว่าตนเองช่างไร้คุณค่า ไร้ประโยชน์สำหรับสถานที่ทำงานแห่งนี้ และสิ่งเดียวที่พอจะบรรเทาความรู้สึกดำดิ่งของพนักงานได้อย่างเห็นผลที่สุด คือ การที่มีผู้บริหารและหัวหน้าที่กล้ายืดอกอย่างสง่าผ่าเผยออกมายืนนำหน้าหรืออย่างน้อยก็อยู่เคียงข้างลูกน้อง พร้อมกับกล่าวออกมาว่า “ผมขอรับผิดชอบในความผิดพลาดครั้งนี้เอง ในฐานะหัวหน้าที่ดูแลลูกน้องได้ไม่ดีเพียงพอ”
ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับ พลังอำนาจของคำพูดเพียงเท่านี้ ทำให้หัวใจอันแห้งเหี่ยวของลูกน้องซึ่งกำลังเสียขวัญจากผลงานที่ไม่เป็นไปตามคาด การถูกเพื่อนร่วมงานตำหนิ ถูกลูกค้าต่อว่า กลับมามีพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะลุกขึ้นมาฮึดสู้เพื่อพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นและไม่ทำผิดพลาดซ้ำเดิม เขาคนนั้นจะกลายเป็นคนที่พร้อมรับฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของท่านซึ่งจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน เพราะท่านได้กุมหัวใจของเขาเสียสิ้นแล้ว
โชคไม่ดีครับ ที่เราหาผู้บริหารแบบนี้ได้จำนวนน้อยเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนองค์กรที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ในทางกลับกันเราสามารถพบเจอผู้บริหารหรือหัวหน้าที่พร้อมจะปัดเรื่องไม่ดีออกจากตัวให้คนอื่น โทษแต่คนอื่น โดยเฉพาะคนที่โทษแล้วไม่ค่อยมีปากมีเสียงโต้ตอบสักเท่าไหร่นั่นก็คือ ลูกน้องของตนเอง ผู้บริหารแบบนี้พร้อมที่จะรับแต่เรื่องที่มีคุณประโยชน์ ได้หน้าได้ตากับตัวเองเพียงฝ่ายเดียว ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงต้องมีสักครั้งในชีวิต ที่ต้องทำงานร่วมกับคนเช่นนี้ พอผลงานสำเร็จ ได้รับคำชมเชย ก็เอาไปอ้าง เอาไปนำเสนอโดยบอกว่าตนเองเป็นคนทำ ไม่เคยให้เครดิต หรือ อ้างถึงทีมงานที่อดหลับอดนอนทำให้เลย แต่ถ้าถูกตำหนิขึ้นมาเมื่อไหร่ รับรองได้ว่าพนักงานคงนั่งหนาวๆร้อนๆกันไปเป็นแถบ เพราะท่านเตรียมปัดสวะมาให้เต็มหน้าบ้าน เจอแบบนี้บ่อยครั้ง วันหลังถ้าเลือกได้ก็คงไม่มีพนักงานคนไหนอยากทำงานทุ่มเทให้อีกแล้ว
-
ช่างโยน ขี้เกียจและชอบเอาเปรียบ
ผู้บริหารบางท่านทำตัวเหมือนยุ่งทั้งวัน ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย เพราะได้มอบ(หัวหน้าเรียก)หรือโยนงาน(ลูกน้องคิด) ให้กับลูกน้องไปหมดแล้ว ทั้งที่งานมีเยอะแยะมากมาย แต่ผู้บริหารแบบนี้ยังคงมาทำงานสาย แต่สามารถกลับบ้านก่อนได้อย่างเป็นปกติสุข ในขณะที่ลูกน้องนั่งทำโอทีกันดึกดื่น ผมเคยเจอพนักงานทีมหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้ผู้บริหารแบบนี้ หน้าตาแต่ละคนเริ่มจะคล้ายหมีแพนด้าเข้าไปทุกที พอหันกลับไปที่เจ้านายผมเจอกับบุรุษผู้มีใบหน้าอิ่มเอิบ อ้วนถ้วนสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรงเพราะสามารถกลับบ้านไปออกกำลังกายได้ทุกเย็น ยิ่งเห็นยิ่งรู้สึกสงสารเวลานึกถึงหน้าพนักงานแต่ละคนที่สายตาละห้อยยามเห็นหัวหน้าของพวกเขาเดินออกจาก office ไปอย่างสบายอารมณ์ในขณะที่พวกเขายังคงไม่สามารถลุกกลับบ้านได้ทั้งที่ล่วงเลยเวลาเลิกงานปกติมานานแล้ว
ประเด็นที่สำคัญของเรื่องนี้ คือ การมอบหมายงานกับโยนงาน ถูกเอามาใช้อย่างผสมปนเป ทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไปอย่างกู่ไม่กลับ และผลลัพธ์ที่ได้ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การมอบหมายงาน คือ การมอบหมายภารกิจหรืองานโดยคำนึงถึง 1. ความสามารถของคนรับ 2. เวลาที่เพียงพอในการทำงานนั้นให้สำเร็จ 3. ความเต็มใจที่จะรับมอบงานนั้น หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป เราคงไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่าสิ่งนั้น คือ การมอบหมายงาน
การโยนงาน คือ การให้ภารกิจหรืองานที่คำนึงถึงความสะดวกสบายของคนโยน มากกว่าปัจจัยทั้ง 3 ข้อด้านบนที่คำนึงถึงคนรับ สิ่งที่น่าเศร้าก็ คือ หัวหน้าที่ชอบโยนงานก็ไม่ใช่คนโง่ที่จะโยนงานไปให้กับลูกน้องที่ไม่รู้ประสีประสา หรือ ทำงานไม่ได้เรื่อง พวกเขามักโยนงานที่ตนเองควรทำในบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารหรือหัวหน้าให้กับพนักงานที่คิดว่าสามารถช่วยทำให้งานนั้นสำเร็จ เขาจะได้ไม่ต้องมาคอยกังวลใจ คอยตรวจสอบงาน จะได้เอาเวลาไปทำภารกิจส่วนตัว เช่น ไปหาซื้อของใช้ให้กับภรรยา พาหมาไปตัดขน พาลูกไปว่ายน้ำ
ไหนๆก็โยนงานให้แล้ว ก็เอาเป็นว่าโยนให้หมดทุกอย่างเลยก็แล้วกัน สิ่งนี้เกิดขึ้นกับพนักงานที่มีความสามารถสูง ก็คือ คนไหนทำได้ก็ใช้แต่คนนั้น ยิ่งถูกโยนงานให้ทำทุกอย่าง เพราะมีความคล่องแคล่ว มีความสามารถ และคนกลุ่มนี้ทำงานเร็ว แต่เมื่อโดนโยนงานให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะเป็นคนเก่ง แต่หากต้องทำทุกอย่าง ทั้งงานที่สำคัญ งานไม่สำคัญ และงานไร้สาระ สุดท้ายก็หมดแรง ท้ายที่สุดก็ท้อ แล้วก็ลาออกไปที่อื่น เพราะจะไปสอดคล้องกับข้อที่ 1 คือ ทำให้ตายก็ไม่มีใครรู้ว่าตัวเองเป็นคนทำเพราะหัวหน้าเอาดีเข้าตัวไปเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายเมื่อคนเก่งลาออก ก็เหลือแต่พวกขี้เกียจอยู่ด้วยกัน แล้วก็สรรหาคนเก่งจากที่อื่นมารับกรรมต่อไปเรื่อยๆ
-
ช่างเหยียบ ชอบดูถูก และไม่ให้เกียรติผู้อื่น
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังรู้สึกว่าตัวเองสูงส่งเกินกว่าคนอื่น ทั้งจากชาติตระกูล ฐานะ การศึกษา ระดับของหมู่บ้าน ยี่ห้อรถยนต์ กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า และอีกมากมายที่คนใช้ตัดสินคุณค่าระหว่างกัน แน่นอนที่เราไม่สามารถห้ามความรู้สึกเหล่านั้นได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ผู้ชื่นชอบการเปรียบเทียบตัวเองกับสิ่งต่างๆที่รายล้อมอยู่รอบตัวตลอดเวลา แต่สิ่งที่เราสามารถห้ามได้ดีกว่าความรู้สึก คือ การแสดงออกทั้งด้วยท่าทาง สายตา กิริยา วาจาหรือ คำพูดไม่ให้แสดงอาการดูถูกหรือเหยียบย่ำคนอื่น แม้ว่าเขาหรือใครคนนั้นจะมีฐานะ ตำแหน่ง หรือเงินเดือนในบริษัทที่ต่ำต้อยกว่าท่าน ทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและพร้อมที่จะปกป้องสิ่งเหล่านี้อย่างถึงที่สุด มนุษย์เราอยากเป็นคนสำคัญ ยืนยันมาหลายสิบปีจากตำราของกูรู(Guru) ด้านการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์หลายพันเล่ม นับตั้งแต่ เดล คาเนกี้ (Dale Carnegie) เขียนหนังสืออมตะ เรื่อง “How To Win Friends And Influence People” ในปี ค.ศ. 1936 เป็นต้นมา ทุกเล่มบอกตรงกันอย่างไม่มีข้อโต้แย้งว่า ทุกครั้งที่มีคนพูดคุยกับท่านอย่างให้เกียรติ พวกเขาเหล่านั้นปฏิบัติกับท่านอย่างชนิดที่เรียกได้ว่า ท่านไม่เคยรู้สึกมาก่อนว่าจะมีใครสักคนให้ความสนใจ เอาใจใส่และเห็นท่านเป็นคนสำคัญขนาดนี้ ถ้าเลือกได้ท่านคงอยากนั่งร่วมโต๊ะพูดคุยกับเขาอย่างสนุกสนานและอาจเลยไปถึงเชิญชวนเขาร่วมงานกับบริษัทของท่านก็เป็นได้ นี่แหละพลังอำนาจลึกลับของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เอาชนะใจคนได้ทุกยุคสมัย
สำหรับผมเป็นเรื่องที่แน่แปลกใจอย่างยิ่ง ที่เรื่องเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก หลักสูตรการฝึกอบรมด้านการสื่อสาร การบริหารทีมงานก็มีอยู่มากมายที่กล่าวถึงเรื่องเหล่านี้ ผู้บริหารเกือบทุกคนก็เคยผ่านการอบรมในหลักสูตรเหล่านั้น แต่ทำไมไม่เอาแนวคิด เทคนิคที่เรียนมาปรับใช้ในการสื่อสารกับลูกน้องหรือทีมงาน
ผู้บริหารบางคนใช้คำพูดที่รุนแรงมากในการตำหนิลูกน้อง จนผมไม่สามารถพิมพ์ออกมาได้ แต่เชื่อว่าท่านผู้อ่านพอจะนึกออกว่ามีคำอะไรบ้าง ตำหนิกันในห้องเงียบๆอยู่กันสองคน รู้กันแค่นี้ก็เจ็บแสบ ปวดใจมากพอแล้ว ยังมีหัวหน้าที่ไม่เข้าท่าชอบด่าประจานลูกน้องของตนต่อหน้าคนอื่น โดยเฉพาะในที่ประชุม เพื่อแสดงความมีอำนาจบาทใหญ่ และ/หรือเพื่อกลบเกลื่อนความผิดพลาดของตนเองไม่น่าเชื่อว่าเรื่องพวกนี้ไม่เกี่ยวกับการศึกษา หรือ ฐานะทางเศรษฐกิจ ต่อให้เก่งแค่ไหน รวยแค่ไหน ถ้าชอบเหยียบย่ำดูถูก ทำร้าย ทำลายน้ำใจคน แบบนี้ก็ไม่น่าทำงานด้วย ที่ทนอยู่ทุกวันนี้เพราะไม่มีที่ไป อย่าให้พนักงานของท่านต้องอยู่ทำงานกับท่านด้วยเหตุผลว่าไม่มีที่ไปเลย อยู่กันไปด้วยบรรยากาศของการไม่ให้เกียรติกัน สุดท้ายก็เสียความรู้สึก เสียมิตรภาพ และเสียสุขภาพจิต
-
ช่างรีด จ้องแต่จะรีดผลงาน
แม้หลายคนจะเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการทำงาน คือ ผลงานอันยอดเยี่ยม แต่ชีวิตการทำงานคงน่าเบื่ออย่างมากหากต้องถูกหัวหน้ารีดเอาแต่ผลงานอยู่ทุกวัน โดยไม่เคยคำนึงถึงความรู้สึกของลูกน้อง บางองค์กรทุกเช้าตอน 6.00 น. จะต้องมีข้อความผ่านทางโปรแกรม Line เข้าไปที่กรุ๊ปของทีมงาน เพื่อที่จะถามว่าวันนี้จะหาลูกค้าใหม่ได้กี่ราย จะทำเป้าหมายได้เท่าไหร่ ฟังดูก็เหมือนกับจะดีครับที่มีหัวหน้ามุ่งมั่น พยายามกระตุ้นให้ลูกน้องกระตือรือร้นต่อเป้าหมาย แต่สิ่งที่หัวหน้าเหล่านั้นลืมไปก็คือ คนมีหัวใจ มีความรู้สึก และคนอยากได้รับการสนับสนุนดูแล ควบคู่ไปด้วยการจะทำให้ลูกน้องทำงานประสบความสำเร็จ จึงไม่เพียงแค่จ้องแต่จะกดดันเอาผลงาน ทั้งรีดทั้งเค้นศักยภาพของลูกน้องออกมาให้เร็วและมากที่สุด เพราะการทำแบบนั้นยิ่งทำให้ลูกน้องหมดกำลังใจ เครียด ท้อ ไม่อยากลุกขึ้นมาเปิดมือถือเวลาที่ท่านส่งข้อความไปและก็เอาหัวหน้าไปนินทาว่าเห็นพวกเขาเป็นแรงงานทาสหรือไง
ถึงโลกยุคใหม่จะเป็นโลกที่ต้องอาศัยความไวในการแข่งขัน ผู้ที่เร็วกว่าคนอื่นถึงจะมีโอกาสสำเร็จมากกว่าคนอื่น แต่นั่นไม่ได้รับประกันว่า โอกาสล้มเหลวจะน้อยกว่าคนอื่นตามไปด้วย บางครั้งเร็วเกินไป หนักเกินไป ก็อาจผิดพลาดได้มากพอๆกับโอกาสสำเร็จ ผมยังเชื่อว่ายังคงเป็นจริงในเรื่องของสิ่งที่เรียกว่า “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง สำเร็จทุกอย่าง” คำกล่าวนี้ไม่ได้แปลว่าคุณต้องช้ากว่าคนอื่น แต่หมายถึงคุณต้องทำอย่างมีสติ ดูจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมเพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
ผมมักกล่าวย้ำอยู่เสมอว่า ยิ่งงานยาก งานหนักเท่าไหร่ คนเป็นหัวหน้ายิ่งต้องลงแรงมากเท่านั้น ถ้าอยากได้ผลงานจากลูกน้อง ผมอยากเสนอให้ท่านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีการบริหารทีมงานจากการ “กดดัน” เป็นการ “สนับสนุน” คือ หาวิธีส่งเสริม และสร้างแรงจูงใจ ให้ลูกน้องของท่าน เกิดความรู้สึกอยากที่จะลงมือทำงานอย่างกระตือรือร้นด้วยตัวของเขาเอง ฟังดูเหมือนเป็นทฤษฎีในตำรา แต่เชื่อผมเถอะมันใช้ได้ Work จริง ไม่อย่างนั้นธุรกิจเครือข่ายจำนวนมากคงไม่สามารถดึงดูดผู้คนมากหน้าหลายตาจากวงการต่างๆเข้ามาช่วยพวกเขาขยายธุรกิจ โดยที่บริษัทไม่ต้องจ่ายเงินเดือนให้กับคนเหล่านั้นสักบาทเดียว แต่คนที่เข้ามาในเครือข่ายของเขากลับกระตือรือร้นแบบชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นในองค์กรที่ตัวเองทำอยู่มาเป็น 10 ปีเลย
ใจจริงแล้ว ผมอยากเว้นหน้ากระดาษไว้โดยไม่ต้องเขียนอะไรลงไปเลย เพื่อสงวนพื้นที่ให้ท่านผู้อ่านได้มีส่วนในการเขียนเติมลงไปว่าพฤติกรรมของผู้บริหารที่ท่านเคยพบเห็นและรู้สึกว่า “เขาไม่น่าทำแบบนี้เลย” มีอะไรบ้าง แต่คิดว่าพื้นที่เพียงเท่านี้คงไม่เพียงพอให้ระบายความอัดอั้นที่เก็บไว้มานาน เพียงแค่พฤติกรรมยอดแย่ทั้ง 4 ข้อนี้ หากมีในสำนักงานหรือองค์กรของท่าน ก็เดาได้ไม่ยากเลยว่าบรรยากาศในการทำงานจะเป็นแบบไหน เราไม่ชอบพฤติกรรมแบบไหนของเจ้านาย วันหนึ่งมีโอกาสเป็นหัวหน้าคนก็อย่าไปทำพฤติกรรมแบบนั้นซะเองนะครับ
และ 6 คุณสมบัติของหัวหน้ายอดแย่ เป็นผู้นำไม่ได้ : https://bit.ly/3uYLBY7 และไม่ควรเป็น