Collaborative Leadership

ในปัจจุบันนี้ไม่ว่าผมจะไปที่ไหน ก็มักได้ยินผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างพูดถึงการปรับเปลี่ยนองค์กรตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่เรียกว่า ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นการก้าวผ่าน เศรษฐกิจยุค 1.0 ที่ประเทศไทยเน้นภาคการเกษตรเป็นหลัก ยุค 2.0 เน้นอุตสาหกรรมเบา และยุค 3.0 ซึ่งเน้นอุตสาหกรรมหนักและภาคการส่งออก สู่เศรษฐกิจ 4.0 ที่เน้นการใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการยกระดับประสิทธิภาพและมูลค่าของภาคการการเกษตรและการผลิตต่าง ๆ  ให้ความสำคัญกับแรงงานที่มีทักษะสูง มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จากธุรกิจบริการแบบดั้งเดิมสู่ธุรกิจบริการที่มีมูลค่าสูง

โมเดลการพัฒนาประเทศดังกล่าว ถือ เป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ที่ภาคธุรกิจต่างต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะด้านเทคโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา และสิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งก็คือ ประเทศที่เป็นทั้งพันธมิตรและคู่แข่งของไทยอย่างเช่นประเทศในกลุ่มอาเซียนของเราต่างเร่งพัฒนาประเทศในทุกด้าน เช่น ประเทศพม่า ลาว เวียดนาม พยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ  ประกอบกับข้อได้เปรียบเรื่องค่าจ้างแรงงาน และปริมาณของแรงงานที่มีมากเพียงพอรองรับการเจริญเติบโตของประเทศ สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยมิอาจหยุดอยู่กับที่ได้อีกต่อไป

เมื่อหันกลับมามองในส่วนขององค์กรธุรกิจปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นในการขับเคลื่อนองค์กรให้เข้าสู่ยุค 4.0 นั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กรอบความคิดของผู้นำองค์กรเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด  แทบเป็นไม่ได้เลยที่ผู้นำจะยังคงใช้กรอบความคิดแบบดั้งเดิมในการนำพาองค์กรเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้  ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นสนามแห่งการแข่งขันที่วัดกันด้วยวิธีคิดและการบริหารจัดการแบบใหม่ที่ผู้บริหารจำนวนมากไม่คุ้นเคย

ผมขอเรียกผู้นำที่จะสามารถนำพาองค์กรเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจ 4.0 นี้ว่า ผู้นำแห่งการสร้างความร่วมมือ (Collaborative Leadership) https://bit.ly/3whC8LJ  ซึ่งก็คือ ผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มคนเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

ด้วยความทุ่มเท ช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริมกันและกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ  อำนาจเป็นพลังมหัศจรรย์ที่มนุษย์ในทุกยุคสมัยต่างไขว่คว้าเพื่อให้ได้มาครอบครอง โดยเฉพาะคนที่เป็น “ผู้นำ” เพราะมันสามารถทำให้เราบงการ ควบคุม หรือบังคับให้คนอื่นทำอย่างไรก็ได้ตามที่เราอยากให้ทำ  หลายครั้งอำนาจทำให้เรากลายเป็นคนที่เราไม่อยากเป็น กลายเป็นใครที่เราไม่รู้จัก และทำให้เราห่างออกไปไกลจากคนรอบตัว

หลายพันปีผ่านไปเราต่างได้รับบทเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าการใช้แต่เพียงอำนาจไม่สามารถสร้างความยั่งยืนขึ้นได้จริง

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป คนทำงานในองค์กรต่างเปลี่ยนแปลงไปจาก Generation B , Generation X  สู่ยุคของคนทำงาน Generation Y ที่กลายเป็นคนส่วนใหญ่ขององค์กร และอีกไม่นานก็จะมี Generation Z ค่อยๆเข้ามา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้บริหารยุค 4.0 ต้องเรียนรู้เป็นลำดับแรกเลยก็คือ วิธีการบริหารจัดการกับพนักงานยุคใหม่ที่มีวิธีคิดและพฤติกรรมในการทำงานและใช้ชีวิตในองค์กรที่แตกต่างจากคนยุคที่ผ่านมาอย่างน่าประหลาดใจ

สิ่งที่ผู้นำแห่งการสร้างความร่วมมือ 4.0 ควรทำเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนองค์กร ได้แก่

  1. 1. สร้างเป้าหมายที่มีคุณค่าอันยิ่งใหญ่

พนักงานยุคใหม่ ต้องการผู้นำที่สร้างองค์กรและสามารถตอบโจทย์ได้ว่า ทำไมพวกเขาควรทำงานองค์กรแห่งนี้  องค์กรที่พวกเขากำลังใช้ชีวิตในแต่ละวันของการทำงานอยู่นั้นได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มากกว่าแค่เรื่องของยอดขาย หรือ ผลกำไร หรือไม่

องค์กรที่พวกเขาอยากจะให้ความร่วมมือต้องเป็นองค์กรที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้ มีผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน ยกระดับความเป็นอยู่ให้กับผู้คนจำนวนมาก คำนึงถึงสภาพแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เป้าหมายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้พนักงานในองค์กรรู้สึกมีคุณค่า คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปในแต่ละวันของชีวิต  เป้าหมายที่มีคุณค่าอันยิ่งใหญ่จึงสามารถสร้างความรู้สึกร่วมได้เป็นอย่างดีสอดคล้องกับค่านิยมของคนในยุคใหม่ที่ให้ความสนใจกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน มากกว่าการเร่งกอบโกยโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง   เมื่อเป้าหมายขององค์กรกับเป้าหมายส่วนตัวของพนักงานเป็นเป้าหมายเดียวกัน พนักงานจะยิ่งทุ่มเททำงานโดยใช้แรงขับเคลื่อนจากภายในที่เรียกว่า แรงบันดาลใจ เข้ามาเป็นปัจจัยหลักในการสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่เพื่อรักษา หรือ เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้

หากเป็นไปได้ท่านผู้อ่านลองตอบคำถามนี้สักหน่อยดีไหมครับว่าทำไม คนเก่งๆจากทั่วโลกอยากทำงานให้กับ  Google, Tesla, Ebay, Microsoft, Apple ผมเชื่อว่าคงไม่ใช่เรื่องค่าตอบแทนที่สูงเพียงอย่างเดียว  แต่คนเหล่านั้นมีฝันและเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่บางอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมของมนุษย์ในมิติต่างๆเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจด้วยต่างหาก

  1. 2. ยอมรับในความแตกต่าง

เศรษฐกิจยุคใหม่เป็นโลกที่วัดกันด้วย “ผลลัพธ์อย่างแท้จริง” การสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างสูง องค์กรต้องขับเคลื่อนด้วยฐานความรู้และพนักงานที่มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้านโดยไม่นำความแตกต่างด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเพศสภาพ  เชื้อชาติ  อายุ  สีผิว หรือถิ่นที่อยู่  มาเป็นกำแพงแบ่งแยกและขัดขวางการสร้างความร่วมมือในการสร้างสรรค์ผลงาน

ผู้นำแห่งความร่วมมือจึงต้องยอมรับและเข้าใจในความแตกต่างที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง เปิดใจกว้างเพื่อให้กลุ่มคนที่มีความแตกต่าง มีความหลากหลายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ปล่อยวางอคติบางอย่างที่มีต่อผู้คน และให้โอกาสกลุ่มคนเหล่านั้นได้แสดงความสามารถอย่างแท้จริงที่พวกเขามีอยู่ในตนเอง  ผู้นำต้องพร้อมที่จะสร้างบรรยากาศของความเป็นสังคมร่วม (Multicultural) ในที่ทำงาน ปรับกฎเกณ์ กฎระเบียบให้มีความยืดหยุ่นเหมาะกับวิถีชีวิตของผู้คนให้มากที่สุด ลดข้อจำกัดที่ไร้เหตุผล เช่น การแต่งกาย การเข้าถึงผู้บริหารที่ยุ่งยาก เวลาทำงาน สถานที่ทำงาน และอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลการทำงานโดยตรง  หันมาสร้างค่านิยมสากลในการอยู่ร่วมกัน

ผมพบเจอหลายองค์กรมากในประเทศไทยที่ผู้บริหารองค์กรยังคงมีอคติกับเพื่อนมนุษย์ บางองค์กรไม่รับพนักงานที่เพศสภาพไม่เหมือนคนทั่วไป แม้ว่าพนักงานคนนั้นจะมีความสามารถเพียงพอในการทำงานก็ตาม นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ความสามารถเหล่านั้นไม่ได้รับโอกาสให้พิสูจน์ออกมา  เพื่อบอกให้ผู้บริหารและคนในองค์กรแห่งนั้นรู้ว่า โลกปัจจุบันวัดคุณค่าของคนจากสิ่งที่คุณสามารถทำอะไรให้โลกใบนี้ได้บ้าง ไม่ใช่คุณเป็นอะไร

  1. 3. สร้างการมีส่วนร่วมในทุกระดับ

ผู้นำแห่งความร่วมมือต้องเปิดกว้างทางความคิด  เปิดประตูสู่การเรียนรู้ อย่าให้คำว่า เป็นไปไม่ได้ ไม่เคยทำมาก่อน หรือ คนอื่นก็ทำแบบนี้ทั้งนั้น เป็นตัวขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ของคนในองค์กร องค์กรจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าตามแนวทาง 4.0 ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมในทุกระดับให้มากที่สุด เพราะโลกของการแข่งขันทางธุรกิจจะเป็นไปอย่างรวดเร็วบนพื้นฐานของข้อมูลจำนวนมากที่ไหลบ่าอย่างบ้าคลั่ง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างงคาดไม่ถึงจากผลกระทบของ Social Media  ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์  การปรับตัวของคู่แข่งในสภาวการณ์ต่างๆ ข้อมูลเหล่านี้ล้วนมีความจำเป็นต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือแนวทางการทำงานขององค์กร  ยิ่งได้ความเห็นที่แตกต่าง ยิ่งได้ข้อมูลที่รอบด้านยิ่งเพิ่มคุณภาพของการตัดสินใจในแต่ละระดับได้มากขึ้น

เพราะฉะนั้นหากผู้นำแห่งความร่วมมือสามารถสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นกับพนักงานในทุกระดับ องค์กรก็จะได้ฐานข้อมูลที่มีความหลากหลาย มีความคิดเห็น ความรู้สึกที่เป็นปัจจุบัน ช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างชัดเจนและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด การสร้างการมีส่วนร่วมยังถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความร่วมมือ เพราะธรรมชาติของมนุษย์มักมีความภาคภูมิใจ มีความรู้สึกหวงแหนและเห็นคุณค่าเมื่อรู้สึกว่าสิ่งนั้นเกี่ยวพันกับตนเอง โดยเฉพาะพนักงานรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูง มีองค์ความรู้และความสามารถ กลุ่มนี้ต้องการการมีส่วนร่วมในระดับที่สูง เพราะการได้เข้ามีส่วนร่วมในงานที่มีคุณค่า มีความสำคัญถือเป็นบันไดของการพิสูจน์ความสามารถของตนว่าเป็นที่ยอมรับของคนในองค์กรหรือไม่  และเมื่อรู้สึกว่าองค์กรเห็นคุณค่าและความสำคัญของตนมากแค่ไหน พนักงานเหล่านั้นก็จะยิ่งทุ่มเทความสามารถในการสร้างผลงานอันยอดเยี่ยมมากขึ้นตามไปด้วย

  1. 4. สร้างเวทีแห่งโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ

ผู้นำแห่งความร่วมมือจะพยายามส่งเสริมและหาเวทีให้พนักงานได้เรียนรู้และแสดงความสามารถออกมาให้ได้มากที่สุด  เพราะองค์กรในยุค 4.0 ต้องเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง เป็นองค์กรที่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้าร่วมกับการพัฒนาพนักงานอย่างรอบด้าน โดยการเปิดโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้และพัฒนาในเรื่องต่างๆตามศักยภาพของพวกเขา เปลี่ยนจากการยัดเยียดในสิ่งที่องค์กรอยากให้พนักงานรู้ เป็นการปรึกษาหารือเพื่อค้นหาความต้องการและแนวทางในการพัฒนาร่วมกัน โดยการเรียนรู้นั้นควรเป็นการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายของรูปแบบการพัฒนาตามความถนัดของแต่ละคน  เปลี่ยนจากรูปแบบที่เป็นทางการเช่น การฝึกอบรม สู่รูปแบบการเรียนรู้ที่เรียบง่ายจากการพูดคุยและการแลกเปลี่ยนข้อมูล แนวคิด มุมมองและข้อคิดเห็นระหว่างกัน นำมาซึ่งการตกผลึกทางความคิดและเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ขององค์กร

ในส่วนของพนักงานเองเมื่อตระหนักแล้วว่าองค์กรให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของพนักงานอย่างจริงจัง สิ่งเหล่านี้จะยิ่งไปกระตุ้นวิธีคิดของพนักงานให้กระตือรือร้นอยู่เสมอในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพราะมิฉะนั้นก็อาจพลาดโอกาสครั้งสำคัญในการทำงานที่มีคุณค่า

  1. 5. สร้างพันธมิตรในทุกมิติ

ผู้นำแห่งความร่วมมือแสวงหาพันธมิตรในทุกมิติ เพราะความร่วมมือที่เกิดขึ้นทั้งจากหน่วยงานราชการ สถาบันวิจัย องค์กรธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ นำมาซึ่งองค์ความรู้ เทคโนโลยี สายสัมพันธ์และโอกาสในการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอดและสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร ในยุค 4.0 ท่านจะเห็นการผสานความร่วมมือขนานใหญ่ในธุรกิจต่างๆโดยเฉพาะภาคการให้บริการที่มีมูลค่าสูง

นอกจากการแสวงหาพันธมิตรจากภายนอกองค์กรแล้ว การสร้างพันธมิตรจากภายในองค์กรก็ถือว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน  ผู้นำแห่งความร่วมมือต้องไม่มองว่าพนักงานเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการทำงาน แต่ต้องมองถึงอนาคตที่อยากพัฒนาให้พนักงานของตนได้เจริญเติบโตและก้าวขึ้นมาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสร้างเครือข่ายของความร่วมมือให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อพนักงานอยู่กับองค์กรมานาน รู้จักวิธีคิด กระบวนการทำงานและค่านิยมขององค์กรดีอยู่แล้ว หากขึ้นมาเป็นพันธมิตรกันก็ย่อมเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง

การสร้างองค์กร 4.0 ให้เกิดขึ้นได้จริงจึงต้องอาศัยการสร้างความร่วมมือร่วมใจ (Collaborate) ของพนักงานรุ่นใหม่ผ่านการสื่อสารและวิธีบริหารจัดการที่ไม่ใช่การบังคับ การออกคำสั่ง หรือ การใช้วัฒนธรรมองค์กรแบบเดิมในการครอบงำหรือทำลายจุดแข็งที่เป็นตัวตนของ Generation ของพวกเขาซึ่งได้แก่  ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และการกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง (Eager to Change) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ตอบสนองต่อโมเดลการพัฒนาประเทศ 4.0 ที่กำลังเกิดขึ้น