นักไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร
( ตอนที่ 6 : ลักษณะ 7 ประการของการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ)
โดย อ.นพพล นพรัตน์ (CEO, Acrosswork)
ลักษณะ 7 ประการของการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ
การจะทำให้การไกล่เกลี่ยบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่คาดหวัง เราจำเป็นต้องเข้าใจและสามารถแยกแยะได้ว่าลักษณะของการไกล่เกลี่ยที่ดีเป็นอย่างไร เพื่อเป็นหลักสำคัญสำหรับการออกแบบกระบวนการไกล่เกลี่ยที่มีประสิทธิภาพ ลักษณะการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีดังนี้
1. เป็นความลับ
คู่กรณีและนักไกล่เกลี่ยต้องไม่นำสิ่งที่พูดคุยกันไปพูดต่อหรือเล่าให้ผู้อื่นที่ไม่ได้อยู่ในห้องไกล่เกลี่ยรับทราบ ไม่มีการบันทึกเสียง บันทึกภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวในระหว่างการพูดคุยโดยปราศจากความยินยอมจากทุกฝ่าย ป้องกันการนำไปพูดต่อ และทำให้อีกฝ่ายได้รับความเสียหาย
2. เป็นกลาง
นักไกล่เกลี่ยต้องทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ปราศจากอคติ หรือ มีวาระซ่อนเร้น ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และที่สำคัญต้องแจ้งให้ทุกฝ่ายทราบถึงความเป็นกลางของนักไกล่เกลี่ย โดยหากนักไกล่เกลี่ยมีเหตุให้อาจสงสัยในความเป็นกลาง เช่น มีความสัมพันธ์ทางหนึ่งทางใดกับคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เช่น เป็นหัวหน้า เป็นเพื่อนร่วมงาน หรือมีผลประโยชน์ใด ๆ ต้องแจ้งให้ชัดเจนและได้รับการยินยอมจากคู่กรณีทุกฝ่ายก่อน และต้องปฏิบัติต่อทุกฝ่ายอย่างเป็นกลาง
3. ได้รับการยอมรับและยินยอมจากทุกฝ่าย
การไกล่เกลี่ยต้องเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากคู่กรณีทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย เพราะเห็นประโยชน์ของการไกล่เกลี่ยว่าจะช่วยลดภาระในการจัดการความขัดแย้งระหว่างกัน ช่วยเพิ่มโอกาสในการยุติความขัดแย้ง โดยคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถขอยุติการไกล่เกลี่ยได้เสมอหากพิจารณาแล้วว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยที่เกิดขึ้นไม่เป็นกลาง กำลังขยายความขัดแย้ง และเป็นแนวทางที่ไม่อาจนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของการไกล่เกลี่ยตามที่คาดหวังไว้ได้
4. ปราศจากการข่มขู่ บังคับ หรือใช้อำนาจใด ๆ กดดัน
บรรยากาศของการไกล่เกลี่ยต้องเป็นไปในแนวทางสันติวิธี ไม่ใช้การบังคับ ข่มขู่ หรือกดดันให้คู่กรณียอมทำตามความต้องการใด ๆ ของอีกฝ่าย โดยต้องไม่มีการใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างความกลัวให้กับอีกฝ่าย เพราะหากมีการบังคับ ข่มขู่ ผลของการไกล่เกลี่ยมีแนวโน้มที่จะไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริง เพราะไม่ได้เกิดจากความเต็มใจของคู่กรณี
5. มุ่งปรับความสัมพันธ์มากกว่าการหาข้อสรุป
วัตถุประสงค์หลักของการไกล่เกลี่ย คือ การยุติความขัดแย้งและรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคู่กรณี การชี้ขาดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกหรือผิด หรือ การมุ่งไปที่การหาข้อสรุปมากหรือเร็วจนเกินไปโดยละเลยเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ย่อมไม่ใช่เป้าหมายของการไกล่เกลี่ยอย่างแท้จริง แม้ครั้งนี้จะยุติความขัดแย้งได้ แต่ความขัดแย้งก็อาจกลับมาอีก
6. การปฏิบัติตามข้อตกลงยึดหลักการรักษาคำมั่นสัญญา ความไว้วางใจ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เมื่อได้ข้อตกลงร่วมกันแล้ว การไกล่เกลี่ยภายในองค์กรจะยึดหลักของการรักษาคำมั่นสัญญาระหว่างกัน โดยเชื่อมั่นว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความมีเกียรติที่ทุกคนมีอยู่ในฐานะของเพื่อนร่วมงานในองค์กรเดียวกัน ฐานะของหัวหน้ากับลูกน้อง ฐานะของเจ้าของธุรกิจกับพนักงาน และในฐานะของความเป็นมนุษย์ที่มีวุฒิภาวะ เมื่อได้ข้อตกลงร่วมกันแล้ว แต่ละฝ่ายจะได้นำข้อตกลงนั้นไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามที่ได้สัญญาร่วมกัน การรักษาสัญญาถือเป็นหนึ่งในค่านิยมสำคัญของการเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ
7. ข้อตกลงไม่เป็นเหตุให้เสียสิทธิการดำเนินการตามกฎหมาย
ในกรณีที่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายใด ๆ เมื่อได้มีการไกล่เกลี่ยกันจนได้ข้อยุติแล้ว แต่ภายหลังปรากฏว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามที่ได้ตกลงกันไว้ หรือมีการเปลี่ยนการตัดสินใจไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงจากการไกล่เกลี่ยก็ตาม คู่กรณีสามารถพิจารณานำปัญหาดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้โดยไม่เสียสิทธิ์ใดๆ และจากความขัดแย้งก็จะกลายเป็นข้อพิพาท ซึ่งก็จะดำเนินการไปตามกระบวนการทางกฎหมาย และมีขั้นตอนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งในส่วนของศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน การไกล่เกลี่ยในชั้นพนักงานสอบสวน การไกล่เกลี่ยในชั้นศาลตามลำดับขั้นต่อไป
** ลักษณะทั้ง 7 ประการนี้ ถือว่าเป็นลักษณะพื้นฐานที่ดีสำหรับการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร ผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้างกระบวนการไกล่เกลี่ยภายในองค์กรพึงระลึกไว้เสมอว่าหากกระบวนการไกล่เกลี่ยที่เราสร้างมาไม่ตรงตามลักษณะทั้ง 7 ประการ ก็อาจจะทำให้การไกล่เกลี่ยตั้งเข็มทิศผิดตั้งแต่ต้นกระบวนการ ยากที่จะไปถึงเป้าหมายได้ตามที่คาดหวัง **
สรุป 7 ลักษณะการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กรที่ดี
1. เป็นความลับ
2. เป็นกลาง
3. ได้รับการยอมรับและยินยอมจากทุกฝ่าย
4. ปราศจากการข่มขู่ บังคับ หรือใช้อำนาจใดๆกดดัน
5. มุ่งปรับความสัมพันธ์มากกว่าการหาข้อสรุป
6. การปฏิบัติตามข้อตกลงยึดหลักการรักษาคำมั่น
สัญญา ความไว้วางใจ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
7. ข้อตกลงไม่เป็นเหตุให้เสียสิทธิการดำเนินการตามกฎหมาย
ในบทความหน้าเรามาเข้าใจ .. >>> ความหมายของ “นักไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร <<< .. กันนะครับ
* Acrosswork กำลังจะมีโครงการ Internal Mediator Certificate Program (ประกาศนียบัตรนักไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร) *