PRINCIPLE 5 acrosswork

 PRINCIPLE 5

หลักสำคัญสู่การเป็นผู้นำในทุกระดับ

โดย อ.นพพล นพรัตน์  (CEO, Acrosswork)

     บทนำ

         จากสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกตกอยู่ภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อ Coronavirus (COVID-19) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – 2564  ณ วันที่เขียนบทความนี้ ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ประมาณ 2,000 ราย ผู้เสียชีวิตประมาณ 20 ราย/วัน หน่วยงานต่าง ๆ ปรับการทำงานเป็นแบบ Work  From Home ธุรกิจการท่องเที่ยวล้มละลาย ร้านอาหารไม่สามารถนั่งทางที่ร้านได้ หลายธุรกิจถูกจำกัดคนเข้าใช้บริการ ถูกสั่งงดให้บริการชั่วคราว ประชาชนถูกระบุให้ใส่ผ้าปิดปากตลอดเวลาที่อยู่ภายนอกครัวเรือน ทั้งหมดเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสให้มากที่สุด

          น่าเสียดายทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเคยเป็นศูนย์ คือ ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่เป็นระยะเวลาที่นานพอสมควร ในช่วงแรกของการรับมือวิกฤติครั้งนี้ ประเทสไทยได้รับการยกย่องว่าจัดการได้ดีในลำดับต้น ๆ ของโลก  แต่สถานการณ์กลับพลิกผันช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่ช่วงก่อนสงกรานต์ รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงมากในแต่ละวัน  มีกระแสข่าวจากสื่อต่าง ๆ ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ชี้ชัดลงไปว่าเกิดจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ขาดความเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะในส่วนของผู้กำกับนโยบาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง  ว่าเป็นต้นเหตุทำให้เกิดกลุ่มก้อนของการแพร่ระบาด (Cluster) เริ่มตั้งแต่สนามมวย บ่อนการพนัน สถานบันเทิง การลักลอบข้ามชายแดนระหว่างประเทศ การเปิดให้ชาวต่างชาติที่มาจากประเทศที่กำลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 สายพันธุ์ใหม่เข้าประเทศ 

covid-19 acrosswork

                  สังคมพยายามตั้งคำถาม ซึ่งหลายคำตอบทำให้ประชาชนรู้สึกว่ายังไม่ได้รับฟังเหตุผลที่ชัดเจนว่า อะไรคือ สาเหตุของความล่าช้าในการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศ ซึ่งได้รับการฉีดไปไม่ถึง 1 % จากประชากรกว่า 70 ล้านคน และวัคซีนที่นำมาฉีดทำไมมีผลทดสอบคุณภาพจากต่างประเทศว่าประสิทธิภาพต่ำที่สุด ในขณะที่มีราคาสูงที่สุด  ทำไมไม่เลือกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงเข้ามาใช้ในประเทศ  ทำไมปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทั้งที่พวกเขาเหล่านั้นติดต่อขอรับความช่วยเหลือแล้ว   ทำไมติดต่อเจ้าหน้าที่ให้มารับตัวไปรักษายากเหลือเกิน ทำไมไม่มีคนไปรับให้นอนรอที่บ้านแล้วก็เงียบหายไป  ทำไมโรงพยาบาลปฏิเสธการรักษา  ยิ่งมีข่าวเศร้ารายวันจากการสูญเสียนักแสดงตลกขวัญใจประชาชน การเห็นภาพอาม่าชราภาพทั้ง 3 ท่านติดเชื้อต้องนอนรออยู่ที่บ้านจนมีท่านหนึ่งเสียชีวิตอันเป็นที่น่าเวทนาอย่างยิ่ง  หลายภาพถูกส่งต่อ หลายเหตุการณ์ยิ่งตอกย้ำความเชื่อบางอย่างของประชาชนที่มีต่อผู้นำของประเทศในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในยุคสมัยของเรา

                 มีคนกล่าวว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาหลังได้รับทราบว่าเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน  ประเทศไทยมีเวลาเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์มากกว่าหลายประเทศทั่วโลก ทำไมเราไม่สามารถเตรียมพร้อมรับมือและจัดการสถานการณ์เหล่านี้ให้ดีมากกว่านี้  และยิ่งเกิดข้อเปรียบเทียบเมื่อในปัจจุบันนี้หลายประเทศส่งสัญญาณให้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติแล้ว  หลากหลายคำถาม คำวิพากษ์วิจารณ์ถูกโหมกระหน่ำโจมตีมุ่งตรงไปที่คนเป็นผู้นำของประเทศ

                 แม้ว่าจะมีการออกมาชี้แจงจากผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับต่าง ๆ รวมถึงผู้นำประเทศออกมาพูดเองโดยตรง แต่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์กลับแสดงออกถึงความไม่เชื่อถือ ไม่เชื่อมั่นในคำชี้แจงที่ได้ฟัง ยังคงมีคำถามอื่นตามมาอีกมากมาย  อาจกล่าวได้ว่าพูดอะไรคนก็ไม่เชื่อถืออีกแล้ว กลายเป็นยิ่งชี้แจงยิ่งถูกตำหนิหาว่าแก้ตัว สังคมเริ่มตั้งคำถามและเสียงเรียกร้องถึงการแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำจากผู้บริหารประเทศเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ

Wash your hands acrosswork

               ผมจะไม่ขอตัดสินว่าสิ่งที่ผู้บริหารประเทศกำลังทำอยู่กำลังทุ่มเทแรงกายแรงใจเร่งแก้ไขสถานการณ์วิกฤติในครั้งนี้อะไรที่เขาเหล่านั้นทำถูก หรือ ผิด การตัดสินใจแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นสมเหตุสมผลเพียงพอหรือไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไรกับใครหรือไม่เพราะผู้เขียนเองไม่ได้นั่งอยู่ในคณะผู้ตัดสินใจ ไม่รู้ข้อมูลเบื้องลึกเท่าคนที่อยู่วงในรู้เพียงข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏตามสื่อมวลชนเช่นเดียวกับท่านผู้อ่าน

                  ดังนั้นการจะไปด่วนสรุปกล่าวโทษผู้ใดเป็นต้นเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจึงอาจไม่ใช่วิสัยของวิญญูชน และไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและเป็นการทำลายขวัญกำลังใจกันเสียเปล่า ช่วงเวลานี้ถ้าผู้นำแพ้ ประเทศก็แพ้ ประชาชนก็แพ้ ดีที่สุดคือ ช่วยเหลือกันให้เต็มที่ บอกกล่าวแนะนำกัน ฟังกัน เข้าใจความรู้สึกของกันและกันจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

           เอาเป็นว่าในเมื่อมีการกล่าวถึงเรื่องภาวะผู้นำในช่วงนี้มาแล้ว ผมก็เลยจะขออนุญาตท่านผู้อ่าน เขียนบทความหนึ่งซึ่งจะอธิบายถึง หลักสำคัญ 5 ประการของการเป็นผู้นำในทุกระดับ ทำให้เข้าใจพื้นฐาน คุณลักษณะสำคัญที่สุดของการเป็นผู้นำ  

           
            จากมุมมองของผมในฐานะที่ปรึกษาด้านการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรมากว่า 15 ปี ได้พบเจอเรียนรู้ รับฟังและสัมผัสกับผู้บริหารองค์กรในระดับต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก  จากการสังเกตทำให้ผมกลั่นกรองออกมาได้ว่าการจะเป็นผู้นำที่ดีนั้นคนเป็นผู้นำจำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Principle 5  (หลักสำคัญสู่การเป็นผู้นำในทุกระดับ)  ซึ่งกล่าวถึงลักษณะพื้นฐานที่สำคัญของการเป็นผู้นำที่ดีควรเป็นอย่างไร และผลลัพธ์ที่จะได้รับจากการมีคุณลักษณะดังกล่าว คืออะไร ทั้งนี้หลัก 5 ประการดังกล่าวไม่ได้จำกัดเฉพาะการเป็นผู้นำระดับประเทศ แต่หมายรวมถึงการเป็นผู้นำในระดับต่างๆไม่ว่าจะเป็นในระดับองค์กร หน่วยงาน ทีมงาน สังคม ครอบครัว หรือแม้กระทั่งตนเอง 

model 5 principle acrosswork

      Principle 5 ประกอบด้วย : 

      ด้านซ้าย คือ หลักสำคัญ 5 ประการ อันได้แก่

Ethics (มีจริยธรรม)  Accountability (มีความรับผิดชอบ) Mindfulness (มีสติ) Consistency (มีความสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง) Leading change (มีความสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง) 

      ด้านขวา คือ
หลักสำคัญ 5 ประการ : ผลลัพธ์ที่ตามมาจากการมีคุณสมบัติดังกล่าว ได้แก่ Recognition (ได้รับการยอมรับ) Respect (ได้รับความเคารพ) Trustworthiness (ได้รับความไว้วางใจ) Inspiration (เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น) Legend (เป็นตำนานเล่าขาน)

                                                                                                  อ่านต่อ  Principle 1 (มีจริยธรรม)