รายละเอียดของ Principle 5
(หลักสำคัญสู่การเป็นผู้นำในทุกระดับ)
Principle 1 : Ethics (มีจริยธรรม)
1. Ethics (มีจริยธรรม)
การมีจริยธรรม ถือเป็นหลักสำคัญสู่การเป็นผู้นำในทุกระดับซึ่งเป็นพื้นฐานที่สุดของการเป็นผู้นำ สมัยตอนที่ผมเริ่มต้นการทำงานเป็นวิทยากรเมื่อ 15 ปีก่อน ในหลักสูตรการสร้างภาวะผู้นำ เคยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านหนึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงซึ่งผ่านการเรียนรู้ในหลักสูตรต่าง ๆ มามากมาย ตั้งคำถามว่า จริยธรรม คืออะไร เรียนมาเยอะแล้ว บอกแต่ว่าให้มีจริยธรรม แต่ไม่เคยอธิบายให้ชัดเจนเลยว่าจริยธรรม คืออะไรกันแน่ ดูเลื่อนลอยจับต้องไม่ได้
ในวันนั้นผมเองต้องสารภาพตามตรงว่าตัวเองก็ยังไม่ชัดเจนเหมือนกันว่าจริยธรรม คืออะไร เข้าใจคร่าว ๆ ว่าก็ คือการทำตัวดี ปฏิบัติตัวดี ตอบไปแบบภาพกว้าง ดูก็รู้ว่าผู้เรียนท่านนั้นก็ไม่ค่อยพอใจในคำตอบ วันนี้ที่ผมอายุมากขึ้น ผ่านเรื่องราวหลายอย่างในชีวิต ทั้งสำเร็จและล้มเหลว ผมเริ่มเข้าใจคำว่าจริยธรรมมากขึ้น สำหรับผมแล้ว …
การมีจริยธรรม คือ การมีความประพฤติ ปฏิบัติสอดคล้องและส่งเสริมกับค่านิยมอันดีในสังคมนั้นๆ มีความสามารถแยกแยะและตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ รู้ว่าสมควรวางตนอย่างไรให้พอเหมาะพอควรกับสถานการณ์ เป็นคุณประโยชน์ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น
ผู้นำควรทำความเข้าใจค่านิยมอันดีของการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่จำเพาะว่าต้องเป็นสังคมไทยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงค่านิยมอันดีที่เป็นสากล เช่น การเสียสละเพื่อส่วนรวม การคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม การช่วยเหลือผู้อื่น การมีเมตตา รู้จักการให้อภัย ให้โอกาสผู้อื่น ความกตัญญู การให้เกียรติผู้อื่น มีความซื่อสัตย์สุจริต การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณ์ ระเบียบปฏิบัติ มีความยุติธรรม ยึดหลักเหตุและผล
Principle 1 : Ethics (มีจริยธรรม) นี้ หากผู้นำคนใดสามารถยึดถือปฏิบัติได้อย่างเป็นธรรมชาติ ปฏิบัติเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อผู้พบเห็น จะทำให้ท่านได้รับการยอมรับ (Recognition) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสังคมนั้น ๆ เมื่อท่านแสดงออกถึงการเป็นผู้มีจริยธรรมที่ดีเป็นแบบอย่าง ผู้คนจะสัมผัสได้ว่าท่านมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐานเหมาะสมสำหรับการเป็นผู้นำกลุ่มสังคมของพวกเขา เพราะท่านยอมรับในค่านิยมเดียวกับพวกเขา ท่านจะช่วยส่งเสริมค่านิยมของพวกเขา ความรู้สึกตะขิดตะขวงใจจะลดลง ความหวาดระแวงจะลดลง เขาจะมั่นใจว่าเมื่อท่านเป็นผู้นำของเขาท่านจะพยายามปกป้องค่านิยมดี ๆ เหล่านี้ให้คงอยู่ในสังคมของเขาสืบไป ท่านจะเป็นต้นแบบของการประพฤติปฏิบัติที่ดีเพียงพอให้คนในสังคมยึดถือเป็นแบบอย่างได้ ..
ลองนึกภาพของคนที่อยากจะเป็นผู้นำแล้วขาดจริยธรรมดูสิครับว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าเราได้ผู้นำที่ทำการเนรคุณต่อพ่อแม่ เป็นพ่อค้ายาเสพติดที่กระทำผิดกฎหมายไม่สนใจว่าผลของสิ่งที่ทำจะกระทบต่อชีวิตผู้คนและสังคมอย่างไร
หากเราได้ผู้นำที่หาแต่จังหวะคดโกง เอาแต่ประโยชน์เข้าตนเอง ชอบฟังแต่คำป้อยอของคนสอพลอ ไม่ใส่ใจค้นหาความจริง เอาแต่ดุด่าว่ากล่าว เคียดแค้นคนอื่น ผู้นำแบบนี้เราคงไม่สามารถยอมรับจากหัวใจให้มาเป็นผู้นำของเราได้ เพราะพฤติกรรมของท่านขัดแย้งกับค่านิยมที่มีดีของสังคม
ท่านอาจจะมีตำแหน่งบริหารในองค์กรนั้น ๆ แต่ท่านจะไม่มีวันได้ตำแหน่งผู้นำในหัวใจของใครสักคน นอกจากคนที่กำลังหาผลประโยชน์จากอำนาจของท่านในปัจจุบัน และที่สำคัญของแบบนี้บังคับให้ยอมรับกันไม่ได้เสียด้วย
คราวนี้เรามาดูกันต่อนะครับ ว่า Principle 2 Accountability (มีความรับผิดชอบ) จะมีรายละเอียดว่าอะไรบ้าง …