ในการนำสัมมนาครั้งหนึ่งเมื่อช่วงต้นปี ระหว่างที่ผมกำลังบรรยายเรื่องการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ให้กับองค์กรด้านการค้าปลีกแห่งหนึ่ง ผู้เข้าสัมมนาซึ่งมีตำแหน่งผู้จัดการได้ยกมือขึ้นเพื่อสอบถามปัญหาที่ว่า “ ในสภาวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ในฐานะผู้จัดการเราจะแสดงภาวะผู้นำอย่างไร ”  คำถามดังกล่าวเมื่อดูผิวเผินฟังดูเหมือนเป็นคำถามง่ายๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นคำถามที่มีความสำคัญมากต่อองค์กร และไม่ง่ายเลยสำหรับการที่จะตอบคำถามนั้นได้อย่างตรงประเด็น ชัดเจน และครบถ้วนในเวลาที่จำกัด

ในวันนั้นผมตอบเพียงคร่าว ๆ ให้เห็นกรอบกว้าง ๆ โดยมีพื้นฐานเชื่อมโยงกับเรื่องของการสื่อสารที่ได้สอนในขณะนั้น  สิ่งที่ตามมาระหว่างที่ผมกำลังขับรถจนกระทั่งเมื่อกลับมาถึงบ้าน  สมองผมคิดทบทวนตลอดว่าสิ่งที่เราตอบผู้เข้าเรียนไปในวันนี้ครบถ้วนเพียงพอแล้วหรือยัง ถ้ามีเวลามากกว่านั้นเราจะตอบอย่างไร จะตอบได้ดีกว่านี้ไหม คิดย้อนไปย้อนมา จนเริ่มรู้สึกปวดหัว และได้ข้อสรุปกับตัวเองในวันนั้นว่า ที่เราตอบไปยังไม่ดีเพียงพอ ยังไม่ได้สะท้อนประเด็นสำคัญในการแสดงออกเรื่องภาวะผู้นำในสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนเท่าที่ควร

บทความนี้ผมจึงเขียนขึ้นมาเพื่อสร้างความกระจ่างให้กับตนเอง มอบให้กับท่านผู้อ่านเผื่อว่าจะสามารถนำไปใช้ในการทบทวนตนเอง หรือ เป็นแนวทางในการปฏิบัติในช่วงที่องค์กรของท่านกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง และมอบให้กับเพื่อนผู้เข้าร่วมสัมมนาในวันนั้น เพื่อเป็นการตอบแทนคำถามดีๆครับ

“ ภาวะผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ”  คือ  ความสามารถในการโน้มนำให้กลุ่มคน ทีมงานและผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนไปสู่อีกจุดหนึ่งตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

นั่นแปลว่าหากท่านอยากแสดงออกถึง “ภาวะผู้นำในการเปลี่ยนแปลง”   ในลำดับแรกสุด คือ ท่านผู้อ่านต้องวิเคราะห์ให้ออกอย่างชัดเจนทีละประเด็นว่า  ผู้นำ ควรจะต้องพฤติกรรม  แสดงออกถึงความสามารถ และ มีบทบาทหน้าที่อย่างไร เพื่อจะทำให้กลุ่มคน ทีมงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนไปสู่อีกจุดหนึ่งตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ https://www.prosofthcm.com/Article/List/23909

 

สิ่งที่ผู้นำต้องแสดงออกเพื่อแสดงภาวะผู้นำในการเปลี่ยนแปลงมีหลัก  5 ประการ  ดังนี้

 

    1. ใช้ความพยายามเท่าที่ทำได้ ศึกษาจนชัดเจนในจุดที่จะไป

สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ผมปรารถนาให้ท่านผู้อ่านที่กำลังจะนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กรให้ความสนใจเป็นลำดับแรก  เนื่องด้วยเท่าที่ผมทำงานที่ปรึกษามาพบว่า ผู้นำส่วนใหญ่ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลง ยังไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขากำลังจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างอย่างถ่องแท้

ผมมักพบว่าในกลุ่มผู้นำ หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้นำ  ไม่เข้าใจว่าสุดท้ายปลายทางแล้ว การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะไปอยู่ที่จุดใด จะเกิดผลกระทบอะไรบ้างกับองค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ให้ความสนใจศึกษาอย่างเพียงพอถึงกระบวนการ ขั้นตอน และปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

 

ความพยายามเท่าที่ทำได้

ผู้นำส่วนใหญ่ยังคงปฏิบัติตัวเป็นเพียงผู้ตาม คือ การรับคำสั่งและทำเพียงแต่งานเฉพาะหน้าที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารระดับสูง สิ่งที่ตามมาคือ เมื่อเกิดสถานการณ์ผิดปกติบางอย่าง เกิดความไม่ชัดเจน ความสงสัย ผู้นำที่ไม่ศึกษาถึงจุดหมายปลายทางที่จะไปจะไม่สามารถเชื่อมโยง อธิบาย หรือแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะอะไรท่านผู้อ่านทราบไหมครับ เพราะเมื่อไม่รู้ว่าต้องการอะไรอย่างชัดเจน ท่านจะใช้อะไรเป็นตัวกำหนด เป็นตัวตัดสินใจว่าจะเลือกทางเลือกใดที่จะมีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุด

และอีกประเด็นที่สำคัญ คือ เมื่อผู้นำไม่ใช้ความพยายามในการศึกษาทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ก็จะมองไม่เห็นภาพผลลัพธ์  มองไม่ออกถึงผลกระทบต่อตนเอง ทีมงาน และองค์กร ก็จะรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นมีความหมายแค่เป็นงานๆหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารระดับสูงเท่านั้นเอง ไม่ได้รู้สึกมีส่วนร่วม ไม่เห็นความสำคัญของการลงแรงในการผลักดันให้เป็นจริง  สิ่งที่ตามมาแน่นอนคือ ผู้นำจะไม่มีแรงบันดาลใจเพียงพอในการสร้างแรงกระเพื่อมไปสั่นสะเทือนกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้เกิดความกระตือรือร้นในการมุ่งไปสู่เป้าหมาย

ผมเชื่อว่าคนเราดูออกครับว่าใครเต็มที่ ใครสนใจ และใครพยายามเอาจริง ที่น่าสนใจ คือ มันเป็นกฎธรรมชาติครับที่ว่า เมื่อเราอยู่ใกล้ใครเราจะได้รับพลังจากคนๆนั้นไม่ว่ามันจะเป็นทางบวก หรือ ทางลบ  ถ้าผู้นำขาดแรงบันดาลใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลง คนรอบข้างก็คงรู้สึกไม่ต่างกันแน่นอน

 

   2. สื่อสารเป้าหมายอันทรงคุณค่าสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ

สิ่งที่ไม่ง่ายเลยในการนำการเปลี่ยนแปลง คือ การเปลี่ยนความคิดของคน  ผู้นำต้องตระหนักในจุดนี้อยู่เสมอครับ  สาเหตุเพราะว่า การเปลี่ยนแปลงนั้น คือ การทำให้คนขยับเขยื้อนจากจุดเดิมในปัจจุบันที่เขาอยู่ไปสู่อีกจุด

จากหลายบทความที่ผมเคยเขียนรับใช้ท่านผู้อ่าน ผมยังยืนยันเหมือนเดิมว่า คนส่วนใหญ่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงเพราะ ในการเปลี่ยนแปลงนั้นคนจะรู้สึกถึงความเสี่ยง ความไม่แน่นอนเมื่อเทียบกับจุดที่เขาอยู่ในปัจจุบัน แม้อาจไม่ใช่จุดที่ดีที่สุด แต่คนจะยินดีอยู่ตรงจุดนี้ เพราะมันคุ้นเคย ไม่ต้องปรับตัว และเริ่มยอมรับได้แล้วกับสิ่งที่เกิดขึ้น การที่ผู้นำจะเปลี่ยนความคิดคนได้ จึงต้องใช้ความพยายามในการสื่อสารเพื่อให้คนเกิดความมั่นใจว่าสิ่งที่กำลังจะไป (เป้าหมาย) เป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดในความรู้สึกของเขา และความเสี่ยงที่เขาจะเผชิญนั้น เป็นสิ่งที่ผู้นำสามารถจัดการและควบคุมได้ เพราะได้คิดวิเคราะห์ เตรียมการเป็นอย่างดีแล้ว

การสื่อสารเป้าหมาย ไม่ได้เป็นการจำกัดว่าผู้นำต้องเอาแต่พูดถึงเป้าหมายของตนเอง แต่การสื่อสารในความหมายนี้ คือ การเปิดโอกาสสร้างเวทีรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วม เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสแสดงมุมมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกัน และเป็นการเชื่อมโยงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักและเห็นความสำคัญว่าเป้าหมายของเราและเป้าหมายของเขาเป็นเป้าหมายเดียวกัน ส่งสัญญาณออกไปว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น สิ่งที่พวกเราจะร่วมลงมือลงแรงกันในครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใดฝ่ายเดียว แต่เป็นประโยชน์ร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง   แต่โปรดระลึกไว้เสมอว่าผลลัพธ์จากการสื่อสารจะไม่เป็นไปตามที่ผู้นำคาดหวังหากการเปลี่ยนแปลงที่ผู้นำกำลังจะสร้างขึ้น ไม่มีได้มีจุดหมายปลายทางจริงในการทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรมจากการเปลี่ยนแปลง ก็คงยากที่จะได้รับความร่วมมือจากคนอื่น

 

goal acrosswork

    3. กำหนดภารกิจ แผนงาน และมอบหมายความรับผิดชอบอย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา

ใช้ความเป็นผู้นำของท่านในการช่วยทีมทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ด้วยการที่ผู้นำแยกแยะขั้นตอน กระบวนการต่างๆที่มีความสลับซับซ้อน ให้เป็นแผนงาน ขั้นตอนที่เข้าใจง่าย และเป็นแผนงานที่เกิดจากความร่วมมือ และจะสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นกับทีมงาน

แผนงานที่ดีจึงต้องมีทั้งประสิทธิผลและประสิทธิภาพ คือ เรียบง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมา และได้ผลลัพธ์ภายใต้การบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการจะทำให้แผนงานต่างๆบรรลุเป้าหมายที่กำหนดได้ การมอบหมายงาน การกระจายอำนาจให้กับทีมงานแต่ละคนอย่างเป็นธรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ให้ทุกคนได้แสดงความสามารถสูงสุดออกมา รู้สึกว่าตนเองได้งานที่มีคุณค่า มีความสำคัญกับการสร้างการเปลี่ยนแปลง

ท่านผู้อ่านลองคิดดูครับว่า หากเรากำลังจะย้ายไปบ้านใหม่ แต่เราเลือกที่จะปรึกษากับบางคน มอบหมายงานที่มีคุณค่าให้กับบางคน ในขณะที่เราละทิ้งไม่สื่อสาร ไม่พูดคุย ไม่ถามความคิดเห็นกับบางคน หากผู้นำทำให้เกิดสถานการณ์แบบนั้น ก็คงยากที่จะสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น และเราคงจะเสียทรัพยากรบางคนไปอย่างน่าเสียดาย โปรดระลึกไว้เสมอครับว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์กับทุกคน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งและละทิ้งคนที่เหลือไป

 

   4. ติดตาม สื่อสาร สนับสนุน ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา (สร้างขวัญกำลังใจ ) เป็นระยะ

การแสดงภาวะผู้นำในการเปลี่ยนแปลง แสดงออกได้ด้วยความเอาใจใส่ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จนทีมงานรับรู้ได้อย่างชัดเจนเลยว่าท่านมีแรงปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง พวกเขาจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้นำ

การติดตาม คือ การติดตามดูความคืบหน้าของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละระยะว่ามีทิศทางไปตามที่วางแผนไว้ในตอนแรกหรือไม่ เมื่อติดตามแล้วสิ่งที่ผู้นำควรแสดงออกมาเป็นระยะอย่างชัดเจน คือ การสื่อสารอย่างต่อเนื่องให้ทีมงานทุกคนรับทราบว่าสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่มีความคืบหน้าไปในทิศทางใด ยังเข้าใจตรงกันอยู่หรือไม่ เป็นทั้งการสร้างขวัญกำลังใจและลดความผิดพลาดในการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างการดำเนินการสร้างการเปลี่ยนแปลง  สนับสนุนทีมงาน

ในขั้นตอนนี้สิ่งที่ผู้นำควรแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ คือ การแสดงออกถึงความกระตือรือร้นในการเข้าช่วยเหลือ สนับสนุนกับทีมงาน เมื่อพวกเขาต้องการการสนับสนุน เช่น การติดต่อประสานงาน  การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากทีมงานไปติดต่อเองอาจต้องใช้เวลาและเสียพลังงานมากเกินไป

สถานการณ์ที่จะทำให้ภาวะการเป็นผู้นำของท่านในช่วงการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นสูง คือ เมื่อวันที่เกิดปัญหาร้ายแรงเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากในการต้องตัดสินใจเลือกว่าจะทำ หรือ ไม่ทำอะไร เพราะเราคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงที่ว่าอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา  ผมขอเสนอให้ผู้นำตระหนักถึงเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งไว้ในตอนแรก   เพื่อตอบคำถามกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ว่า ท่านเลือกวิธีการต่าง ๆ เหล่านั้น เพราะอะไร และไม่เลือกเพราะอะไร หลังจากนั้นแล้วใช้ภาวะความเป็นผู้นำของท่านกล้าที่จะตัดสินใจให้ทันต่อสถานการณ์ สุดท้ายจงยอมรับผลของการตัดสินใจและยืดอกออกมารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

 

   5. ประเมินผลการเปลี่ยนแปลงและให้รางวัล

สิ่งที่ผู้นำควรทำในแต่ละความก้าวหน้าของการเปลี่ยนแปลง คือ การประเมินผลเป็นระยะ และให้รางวัล ทำไมต้องทำเช่นนี้ เพราะเป็นการส่งสัญญาณว่าสิ่งที่ทีมงานทำมานั้น ผู้นำเห็น ให้ความสนใจ และให้การยอมรับในคุณค่าของพวกเขา อีกทั้งยังเป็นการเน้นให้เห็นว่าเราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงไปตามแนวทางที่เรากำหนดร่วมกันไว้อย่างแน่วแน่ มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง โดยการประเมินผลยึดหลัก ความยุติธรรม คือ ให้รางวัลตามความสามารถ ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย และหลักความเท่าเทียมคือ มีหลักเกณ์ที่ชัดเจน บนพื้นฐานและมาตรฐานที่ยอมรับร่วมกัน

ผมเชื่อมั่นว่าภาวะผู้นำมีความจำเป็นมากในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้งหมดต้องเน้นที่การสร้างความเชื่อมั่น การเอาใจใส่และคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อทีมงานและองค์กรเป็นสำคัญ  หากสามารถทำได้เช่นนี้แล้ว การนำการเปลี่ยนแปลงก็คงเป็นหนึ่งในงานที่มีความสนุกในการที่ท่านจะได้แสดงภาวะผู้นำออกมาได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

Leadership in change acrosswork