นักไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร
( ตอนที่ 2 : ผลกระทบด้านบวกและด้านลบของความขัดแย้ง)
โดย อ.นพพล นพรัตน์ (CEO, Acrosswork)
ผลกระทบด้านบวกและด้านลบของความขัดแย้ง
ในปัจจุบันนี้แนวความคิดว่าความขัดแย้งไม่ได้มีเพียงผลกระทบด้านลบเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีผลกระทบด้านบวกด้วย เราลองมาดูสิว่าผลกระทบของความขัดแย้งทั้งด้านบวกและด้านลบมีอะไรบ้าง และเมื่ออ่านจบแล้วลองพิจารณาดูสิว่าองค์กรของท่านกำลังเผชิญความขัดแย้งที่สร้างผลกระทบเช่นไร
Positive effect (ผลกระทบด้านบวก)
ผลกระทบด้านบวกของการเกิดความขัดแย้งในระดับที่เหมาะสม สามารถจัดการได้ และผู้เกี่ยวข้องไม่ได้เลือกใช้วิธีการรุนแรงในการจัดการความขัดแย้ง ความขัดแย้งดังกล่าวจะสร้างผลกระทบด้านบวกที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ ดังต่อไปนี้
* พัฒนาและฝึกฝนกระบวนการคิดในการอยู่ร่วมกัน การยอมรับความเห็นต่าง การเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน
* ทำให้แต่ละฝ่ายได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง ช่วยให้เกิดการเรียนรู้มุมองใหม่ และสามารถนำมาตกผลึกเป็นความคิดที่รอบคอบ รอบด้าน ลดความผิดพลาด เพิ่มโอกาสสำเร็จมากยิ่งขึ้น
* เกิดกระบวนการสร้างวัฒนธรรมการทำงาน ส่งเสริมความเป็นทีมในเรื่องการยอมรับความแตกต่าง การนำความต่างมาเปลี่ยนเป็นพลังร่วม ระบบจัดการความขัดแย้ง การปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาตนเอง
* กระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงจากการรับฟังความคิด และมุมมองที่แตกต่างของผู้อื่น จนสามารถสร้างให้กลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ของตนเองและพัฒนาสู่การเป็นนวัตกรรม (Innovation) เพื่อลดข้อขัดแย้งในเรื่องต่าง ๆ
Negative effect (ผลกระทบด้านลบ)
ผลกระทบด้านลบของการเกิดความขัดแย้งในระดับที่มากเกินกว่าจะจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเลือกใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้ความรุนแรงจัดการสถานการณ์ความขัดแย้งจะนำมาซึ่งผลกระทบที่สร้างความเสียหายดังต่อไปนี้
* เกิดพฤติกรรมไม่สร้างสรรค์ ทำให้อีกฝ่ายเสียความรู้สึก เจ็บแค้น เจ็บปวด เครียด บ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกัน พฤติกรรมดังกล่าวจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันเลวร้ายแก่ทุกฝ่าย
* เสียทรัพยากร บุคคล เวลา งบประมาณ ที่ต้องใช้สำหรับการหาข้อยุติ ข้อสรุปในแต่ละประเด็นมากเกินไป เพราะมัวแต่เสียเวลามานั่งถกเถียงซึ่งบางครั้งเป็นประเด็นปลีกย่อยที่ไม่สำคัญ
* ผลิตภาพลดลงจากการขาดความร่วมมือระหว่างคู่กรณี และอาจนำไปสู่การสูญเสียพนักงานหรือทีมงานบางส่วนที่ไม่ปรารถนาทำงานอยู่ภายใต้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะคนทำงานส่วนใหญ่คาดหวังว่าเมื่อเข้ามาทำงานที่ใดแล้ว น่าจะเป็นที่ทำงานที่ไม่ต้องเผชิญความเครียดจากการขัดแย้ง
* อาจเกิดการทำร้ายร่างกาย หรือทรัพย์สินให้ได้รับความเสียหาย เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีตามมาหากไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้
* องค์กรเสื่อมเสียความน่าเชื่อถือในการบริหารจัดการทีมงานให้เกิดความสามัคคี ลูกค้าเกิดความไม่เชื่อมั่น รู้สึกว่าองค์กรนี้ไม่มีความเป็นมืออาชีพในการทำงานเท่าที่ควร
ในบทความหน้าเรามาเข้าใจ .. > > > สาเหตุของความขัดแย้งภายในองค์กร < < < .. นะครับ
*Acrosswork : กำลังจะมีโครงการ Internal Mediator Certificate Program (ประกาศนียบัตรนักไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร) *