นักไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร
( ตอนที่ 1 : นิยามและบริบทของความขัดแย้ง)
โดย อ.นพพล นพรัตน์ (CEO, Acrosswork)
นิยามและบริบทของความขัดแย้ง
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของการดำเนินชีวิต ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดจนการเป็นสมาชิกของสังคมในแต่ละระดับ เราทุกคนต่างเคยเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกว่า “ความขัดแย้ง” มาแล้วทั้งสิ้น แม้จะไม่อยากให้เกิดขึ้นก็ตามหลายครั้งที่ความขัดแย้งสร้างผลกระทบต่อชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างสุดแสนเจ็บปวด นับวันความขัดแย้งยิ่งใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกขณะ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของปัจจัยต่าง ๆ รอบตัว เช่น อิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ แนวคิดและสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงลูกของครอบครัวสมัยใหม่ สภาพโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูงขึ้น รุนแรงขึ้นและซับซ้อนขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเผชิญหน้าและปะทะกันระหว่างบุคคล หรือ กลุ่มคนในแต่ละภาคส่วนของสังคม จนมีคนในสังคมออนไลน์กล่าวว่าสังคมเราเป็นสังคม “อุดมดราม่า” สามารถขัดแย้งกันได้ทุกเรื่อง ทุกประเด็น ความขัดแย้งที่เราเผชิญอยู่มีหลายมิติ มีบริบทที่แตกต่างกัน มีความซับซ้อนเกี่ยวพันกันในหลายแง่มุม ทั้งประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ศาสนา ภูมิศาสตร์ กฎหมาย ความเชื่อ และค่านิยม การจะทำความเข้าใจทุกประเด็นดังกล่าวให้เกิดความลึกซึ้งต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควร
ดังนั้น ในการเรียนรู้ครั้งนี้เราจะมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจและหาทางออกสำหรับความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน การมีปฏิสัมพันธ์กันภายในทีมงานและองค์กรเดียวกัน ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการทำงานให้ประสบความสำเร็จ และทำให้การใช้ชีวิตในสถานที่ทำงานของเราในแต่ละวัน (ใช้เวลากว่า 50 % ในแต่ละวัน) เป็นไปในแนวทางที่ส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทั้งตัวเราและคนรอบข้าง ลดความตึงเครียด สร้างความร่วมมือ สร้างสังคมแห่งการเอื้ออาทร ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการมาทำงานร่วมกันตามที่ตนเองและองค์กรคาดหวัง แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากจะนั่งทำงานหรือใช้ชีวิตหลายสิบปีอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างแน่นอน
Acrosswork เชื่อว่าจากความเข้าใจและทักษะที่เราทุกคนจะได้เรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้ จะเป็นพื้นฐานอันแข็งแกร่งสำหรับจัดการสถานการณ์ความขัดแย้งในทุกระดับขององค์กร โปรดระลึกเสมอว่า วันใดวันหนึ่งเราทุกคนอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการยุติความขัดแย้ง ช่วยประคับประคองสังคมของเราให้ก้าวพ้นการใช้ความรุนแรงและมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเดิม เราสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
เรามาทำความเข้าใจ : นิยามของความขัดแย้ง ร่วมกันดีไหมครับ . . .
1. ความเห็นต่าง (Different Opinions)
คือ การแสดงออกทางความคิดที่ไม่สอดคล้องกันในประเด็นต่าง ๆ โดยมีสาเหตุจากการที่ แต่ละฝ่ายมีความรู้ ความเชื่อ ประสบการณ์ ความคิด และความคาดหวังที่แตกต่างกัน
2. ความขัดแย้ง (Conflict)
คือ สภาวการณ์ที่บุคคลตั้งแต่ 2 คน หรือ 2 กลุ่มขึ้นไปแสดงออกซึ่งความเห็นต่างในประเด็นที่เกิดขึ้น โดยต่างฝ่ายมีพฤติกรรมในลักษณะขัดกัน ตรงกันข้าม ขัดขวาง แข่งขัน กีดกัน ยับยั้งการบรรลุเป้าหมายหรือผลประโยชน์ของอีกฝ่ายอย่างชัดเจน
3. ความรุนแรง (Violence)
คือ วิธีการหรือรูปแบบหนึ่งที่มนุษย์นำมาใช้เพื่อจัดการความขัดแย้ง โดยอาศัยความได้เปรียบในปัจจัยต่าง ๆ เช่น การมีกำลังที่มากกว่า อำนาจที่เหนือกว่า และอาวุธที่รุนแรงกว่าเข้าทำร้ายร่างกาย จิตใจหรือทรัพย์สินของอีกฝ่าย ทำให้เกิดความเจ็บปวด ล้มตายหรือเสียหาย โดยเชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นจะทำให้ได้รับชัยชนะเหนืออีกฝ่าย มีอำนาจในการควบคุมและยุติความขัดแย้งได้
4. ผลกระทบ (Effect)
คือ ผลลัพธ์ที่มาจากการเกิดความขัดแย้งในระดับต่าง ๆ ตลอดจนผลของการเลือกใช้วิธีจัดการความขัดแย้งของมนุษย์ โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจมีทั้งด้านบวก (Positive effect) และด้านลบ (Negative effect) ในแต่ละครั้ง
ในบทความหน้าเรามาเข้าใจผลกระทบด้านบวก และด้านลบของการเกิดความขัดแย้งร่วมกันครับ
** ACROSSWORK เรากำลังจะมีโครงการ Internal Mediator Certificate Program (ประกาศนียบัตรนักไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร) กันนะครับ **