ถือเป็นกิจวัตรประจำปีเมื่อถึงช่วงปีใหม่จะเป็นเวลาซึ่งคนจำนวนมากตั้งใจไว้ว่าจะเปลี่ยนแปลงชีวิต จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านเองก็เป็นคนหนึ่งที่มักจะตั้งปณิธานกับตนเองไว้อย่างน้อยสักข้อสองข้อว่าจะทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ชีวิตในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
คนที่มีน้ำหนักตัวเยอะก็ปรารถนาที่จะลดน้ำหนัก คนที่สุขภาพไม่ดีก็วางแผนไว้ว่าจะต้องหาเวลาออกกำลังกายให้ได้อย่างสม่ำเสมอ คนที่เงินไม่พอใช้หวังจะหาช่องทางสร้างรายได้ให้มากขึ้น คนที่รู้สึกว่าตนเองมีพฤติกรรมไม่ดี ติดบุหรี่ ติดสุรา ก็อยากที่จะลด ละ เลิกสิ่งไม่ดี บางคนอยากที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เกิดทักษะใหม่ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
หากกล่าวถึงเรื่องการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจก็อาจมีลักษณะที่ไม่ต่างกัน เมื่อถึงช่วงเวลานี้ก็ระดมคนในทีมหรือในองค์กรมาตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าอยากทำอะไรบ้าง อยากเห็นองค์กรเป็นอย่างไรในปีนี้ อยากจะแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาในเรื่องใด ก็ว่ากันไปตามสถานการณ์ของแต่ละที่ แต่ละธุรกิจ
ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่เราหลายคนกำลังมองไปข้างหน้าว่าอีก 1 ปีนี้จะทำอะไร แต่ก็มีคนอีกจำนวนมากที่กำลังนั่งทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมาในปีที่กำลังจะเดินจากไป หากลองมองย้อนกลับไป บางคนก็อาจเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจว่าปีที่ผ่านมาตนเองได้ทำตามสิ่งที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นปีได้ประสบความสำเร็จ
คนเหล่านั้นได้เปลี่ยนแปลงชีวิตไปตามสิ่งที่เขาออกแบบและวาดฝันไว้ ในขณะที่คนอีกจำนวนมากกลับพบว่า เป้าหมายที่ตนเองเคยวางไว้ตั้งแต่ต้นปีกลับไม่มีเป้าหมายใดเลยที่ประสบความสำเร็จ ถึงขนาดที่บางเป้าหมายยังไม่ได้แม้แต่จะเริ่มต้นเลย
สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ เรากลับรู้สึกชาชินกับความล้มเหลวนั้น แน่นอนครับเป้าหมายที่เราตั้งไว้ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ผลสะท้อนหรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราต่อมาหลังจากนั้นเป็นเรื่องที่จะส่งผลต่อชีวิตเราในหลายด้าน นั่นก็คือ เราสร้างเงื่อนไขทางใจของเราให้เกิดขึ้นเพื่อบอกกับตัวเองว่าเป้าหมายเหล่านั้นไม่ต้องสำเร็จก็ได้ เมื่อใจเรามีเงื่อนไขแบบนี้แล้ว รับประกันได้เลยว่าโอกาสที่เป้าหมายนั้นจะสำเร็จคงเป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก
ช่วงโอกาสต้นปีแบบนี้ ผมอยากเชิญชวนท่านผู้อ่านมาร่วมกันเรียนรู้ไปข้างหน้าถึงวิธีการพื้นฐาน 9 ประการที่จะทำให้เราทุกคนสามารถสร้างเป้าหมายในปีนี้และปีต่อๆไปให้ประสบความสำเร็จ เป็นจริง
8 พื้นฐานง่าย ๆ ทำเป้าหมายให้สำเร็จ
มีอะไร เมื่อตั้งเป้าหมายได้แล้ว บางคนกลับหยุดมันไว้เท่านั้น แล้วหันไปทำสิ่งอื่นๆ แทนที่จะมุ่งมั่นกับการลงมือทำสิ่งที่ตั้งใจนั้นให้สำเร็จ พอหมดปี ก็ไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้เริ่มต้นเก็บเงินออม ไม่ได้ให้เวลาอ่านหนังสือเล่มใหม่
ผมมักจะบอกน้องๆในทีมงานและบริษัทลูกค้าที่ผมให้คำปรึกษาอยู่เสมอว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการมีเป้าหมาย คือ การลงมือทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ เพราะต่อให้เป้าหมายเรายิ่งใหญ่เพียงใด มีประโยชน์มากมายขนาดไหน สิ่งเหล่านั้นจะไม่มีคุณค่า ไม่เกิดประโยชน์อันใดกับใครสักคนเลย ถ้าเราไม่เริ่มลงมือทำมันตั้งแต่ตอนนี้
ไม่มีเวลาใดเหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับการทำเป้าหมายให้สำเร็จเท่ากับเวลานี้ เพราะถ้าเรายังคิดว่ารอได้ เราก็จะรอมันไปเรื่อยๆ ถ้าหมอไม่บอกเราว่าคุณต้องออกกำลังกายแล้วนะ มิฉะนั้นคุณจะตายภายใน 6 เดือน เราคงไม่ได้เริ่มออกกำลังกายเสียที
นิสัยการผลัดวันประกันพรุ่ง เป็นนิสัยประการหนึ่งที่ทำให้เราไม่ได้ลงมือทำ เพราะเรามักบอกตัวเองว่ายังมีเวลา ยังมีโอกาส ยังไม่ต้องเริ่มก็ได้ ไม่เริ่มก็ไม่เป็นไร ไม่มีผลเสียอะไรหรอก เมื่อเราคิดแบบนี้ก็ทำให้เราหลงลืมไปว่าทุกอย่างในโลกนี้ล้วนขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โอกาสที่ดีที่สุดอาจเดินผ่านหน้าเราไปแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างเป้าหมายของปีนี้ให้สำเร็จ คือ วันนี้ ไม่ใช่วันพรุ่งนี้หรืออาทิตย์หน้า
1. ยึดมั่นเป้าหมาย เน้นย้ำในวัตถุประสงค์ของตน
ผมเชื่อว่าเราทุกคนตระหนักถึงความจริงที่ว่า ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ เมื่อเราได้เริ่มลงมือทำอะไรบางอย่างกว่าที่มันจะสำเร็จ กว่าที่ต้นไม้จะผลิดอกออกผล กว่าที่รูปร่างจะสมส่วน ทุกอย่างล้วนต้องการความเอาใจใส่ดูแล ให้ความทุ่มเท ความอดทน ต้องเผชิญหน้ากับความลังเล ความสงสัย โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่เราลงมือทำนั้นกำลังถูกท้าทายจากปัญหา อุปสรรคที่ถาโถมและรุมเร้าเราในทุกด้าน
เสมือนคนทำงานที่เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ หน้าที่การงานความรับผิดชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มที่จะกลับมาคิดทบทวนว่าที่กำลังทำอยู่ทุกวันนี้ใช่สิ่งที่ตนเองอยากได้จริงไหม ใครที่ไม่สามารถข้ามผ่านจุดนี้ได้ ก็จะหมดพลังใจในการทำงาน ทำงานไปวัน ๆ โดยไร้จุดหมาย
ตัวผมเองมีหลายครั้งเมื่อกำลังทำอะไรบางอย่าง เจอปัญหา เจอความเครียด ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่เราต้องการอะไรกันแน่ เป้าหมายที่เราตั้งใจไว้มันใช่สิ่งที่เราต้องการจริงๆหรือไม่ ทำไมเราต้องเอาตัวเองไปผูกกับเป้าหมายเหล่านั้นด้วย เราใช้ชีวิตไปตามปกติ อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเป็นไปไม่ดีกว่าเหรอ ยิ่งคิด ยิ่งตั้งคำถามให้กับตัวเอง หลายครั้งก็เริ่มลังเลและหยุดชะงักสิ่งที่กำลังทำอยู่ แล้วหันไปทำอย่างอื่นที่สบายใจ ไม่เครียดทดแทน เพื่อให้ไม่ต้องนึกถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้แต่แรก
ถึงขนาดที่บางครั้งก็เลือกที่จะเปลี่ยนเป้าหมายไปทำอะไรที่มันง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากใจแทนเป้าหมายเดิม เรียกได้ว่าพอเจอปัญหาก็เลือกที่จะหนีปัญหาหลายครั้งที่ผมผิดพลาดและกลับมาแก้ตัวไม่ทัน มันทำให้เป้าหมายที่ตั้งใจไว้หลายเรื่องไม่เกิดขึ้นจริง
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผมพบว่าตัวเองได้ทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจสำเร็จเสร็จสิ้นไปหลายเรื่อง ปัจจัยสำคัญ คือเมื่อเกิดความลังเลสงสัยในสิ่งที่ผมเองกำลังทำอยู่ ผมจะหวนนึกถึงความรู้สึกแรกเมื่อวันที่ผมกำลังนั่งตั้งเป้าหมายว่าตอนนั้นผมรู้สึกอะไร ผมมีเหตุผลอะไรถึงทำสิ่งนี้ และชีวีตผมต้องการอะไรกันแน่ ผมจะเอาที่เขียนที่จดไว้มาอ่าน เพื่อเน้นย้ำกับตัวเองให้ชัดเจน และหายใจลึกๆพร้อมกับเริ่มลงมือทำสิ่งนั้นต่อไป
2. เลือกใช้วิธีการที่เหมาะสม
สาวๆหลายคนอยากมีรูปร่างที่ดี ส่วนหนึ่งเลือกออกกำลังกาย บางส่วนเลือกอดอาหาร แต่ก็มีอีกหลายคนที่เลือกวิธีการกินยาลดความอ้วน ผมเชื่อว่าจากข่าวสารที่เผยแพร่ออกมาเป็นระยะ ท่านผู้อ่านสามารถตัดสินได้ว่าวิธีการไหนที่เหมาะสม และวิธีการไหนไม่เหมาะสมสำหรับการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี
การที่เราจะดูว่าวิธีการไหนเหมาะสมกว่าวิธีการอื่น ให้ดูว่าวิธีการนั้นมีต้นทุนที่เราต้องลงไปคุ้มค่ามากน้อยเพียงใดกับผลลัพธ์ที่เราได้รับกลับมา เปรียบเทียบง่ายๆก็คือ ถ้าเราต้องการลดน้ำหนักให้ได้ 5 kg. ถ้าเราเลือกออกกำลังกาย สิ่งที่เราต้องเสียไปหลัก ๆ คือ เวลา ความเหนื่อย แต่สิ่งที่เราได้รับกลับมาคือ น้ำหนักที่ลดลง และร่างกายที่แข็งแรงขึ้น
ในขณะที่การอดอาหาร หรือ การกินยาลดความอ้วนเพียงอย่างเดียวโดยไม่ออกกำลังกาย แม้ใช้เวลาไม่นานในการที่น้ำหนักจะลดลง แต่ท้ายที่สุดเราอาจต้องแลกมาด้วยสุขภาพของเราทั้งชีวิต และในระยะยาวผลก็พิสูจน์มาแล้วว่าน้ำหนักที่หายไปในช่วงแรกก็จะกลับเพิ่มมาอีกเป็นเท่าทวีคูณ
เมื่อเราต้องการทำเป้าหมายให้สำเร็จ การเลือกวิธีการที่เหมาะสมช่วยให้เราไม่ต้องลงทุนทรัพยากรของเราไปอย่างเปล่าประโยชน์ ทั้งในด้านเวลา กำลังกาย กำลังทรัพย์ วิธีการที่เหมาะสมจะช่วยย่นย่อเวลาของเราในการไปสู่เป้าหมายให้สั้นลง เพราะมันรวมถึงกระบวนการจัดลำดับ ขั้นตอน องค์ประกอบที่จะช่วยสนับสนุนให้เราทำงานต่างๆได้ง่ายขึ้นเพื่อให้ผลลัพธ์ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง
ในทางกลับกันถ้าเราไม่สามารถเลือกวิธีการที่เหมาะสมได้ คงเหมือนเราเอามีดอีโต้เล่มโตไปปอกผลมะม่วง โอกาสพลาดก็สูง กว่าจะสำเร็จก็ยาก ปอกออกมาก็ไม่สวยไม่ดี
3. สร้างแบบแผนในการปฏิบัติ
การจะทำอะไรให้สำเร็จต้องอาศัยระยะเวลาและความต่อเนื่องพอสมควร ผมมักพบเจอผู้บริหารองค์กรคนที่ประสบความสำเร็จหลายท่าน มีวิธีการทำงานที่ค่อนข้างมีแบบแผน แบบปฏิบัติอย่างชัดเจนเช่น ทุกวันเวลา 2-4 ทุ่มจะต้องอ่านหนังสือ ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ จะต้องไปออกกำลังกาย 2 ชั่วโมง ทุกเช้าของวันทำงานจะต้องนั่งนึกภาพว่าในวันนั้นต้องทำอะไรบ้าง
เพื่อนผมคนหนึ่งจากคนที่เป็นหอบ แต่มีความฝันว่าอยากจะไปวิ่งมาราธอนให้ได้ เขาใช้เวลาในแต่ละวันเตรียมตัวซักซ้อมร่างกาย มีตารางแน่นอนว่าในแต่ละวันต้องออกกำลังกายส่วนใด เวลาไหน ใช้เวลาเท่าใด ทำแบบนี้อยู่ 6 เดือน ปรากฎว่าทุกวันนี้สามารถไปวิ่งมาราธอนได้เป็นผลสำเร็จแล้ว
ระเบียบแบบแผนเหล่านี้ เป็นการสร้างระบบขึ้นมาเพื่อให้ตัวเราสามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในตารางชีวิตของเราได้ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ป้องกันสิ่งที่จะมารุกล้ำหรือช่วงชิงเวลาของเรา ทำให้เราจดจ่อกับสิ่งที่เราตั้งใจ และผนวกมันไว้ในตารางชีวิตอย่างชัดเจนของเรา จนมันกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งเปรียบเสมือนเราได้จัดสิ่งที่มีความสำคัญลำดับแรกไว้แล้วตารางของเรา ทำให้เราไม่พลาดกิจกรรมเหล่านั้นที่จะนำพาเราไปสู่เป้าหมาย
คนทำงานเองก็เช่นเดียวกัน อยากมีทักษะใหม่ๆ เช่น อยากออกแบบ Info-graphic อยากเก่งภาษาต่างประเทศ ถ้าไม่สร้างแบบแผนในการปฏิบัติอย่างชัดเจนว่าเราจะให้เวลาช่วงไหนในการมุ่งมั่นจดจ่อสำหรับการฝึกทักษะเหล่านั้น เราจะพบว่า เมื่อเวลาผ่านไปจะมีภารกิจหรือสิ่งต่างๆแทรกเข้ามาเป็นระยะ จนทำให้เราหลงลืมเป้าหมายที่เราอยากทำ ทั้งสิ่งที่เราแทรกเข้ามาเอง หรือคนอื่นแทรกเข้ามาในชีวิตเรา
เชื่อผมเถอะครับระเบียบแบบแผนการปฏิบัติเหล่านี้นอกจากเอาไว้บอกตัวเราเองแล้วว่าเราต้องปฏิบัติตามนั้น มันยังสามารถช่วยบอกคนอื่นได้ว่าเวลานี้เรากำลังทำอะไรที่สำคัญอยู่ เราไม่ได้ว่างหรืออยู่เฉยๆ เพราะฉะนั้นปัจจัยเดียวที่คนอื่นจะเข้ามาแทรกได้ คือ สิ่งที่เข้ามาแทรกนั้นต้องมีความสำคัญมากกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่
4. ก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเอง
ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง เป็นสัจธรรมของโลกใบนี้ บ่อยครั้งที่เราไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้ เพราะเรามัวเสียเวลากับการนั่งจมปลักกับจุดอ่อน หรือข้อจำกัดของตนเอง เช่น เราไม่เก่ง เราฐานะไม่ดี เราไม่มีเงินทุน เราไม่มีความรู้ เราไม่มีโอกาส เราไม่มีทีมงาน ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับ
คนที่ประสบความสำเร็จทุกคนที่ผมรู้จักต่างก็เผชิญกับข้อจำกัดเหล่านี้มากบ้างน้อยบ้างผสมกันไป แต่สิ่งเดียวที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ พวกเขาเหล่านั้นไม่ยอมเสียเวลากับการนั่งบ่น นั่งโทษข้อจำกัดที่ตนเองมี พวกเขาใช้เวลาเกือบทั้งหมดกับการทลายข้อจำกัดเหล่านั้น หรือ เรียกง่าย ๆ ว่า พวกเขากำลังทุ่มเทพลังงานทั้งหมดกับการแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่
ตอนนี้ผมเป็นที่ปรึกษาอยู่แห่งหนึ่ง พบเจอผู้บริหารบางคนที่กำลังนั่งกลุ่มใจว่าองค์กรไม่ยอมเพิ่มคนทำงานให้ เขาจึงไม่สามารถผลิตผลงานออกมาได้ตามที่องค์กรคาดหวัง เขาอยู่ในห้วงอารมณ์แบบนี้มาไม่ใช่แค่เดือน หรือสองเดือน แต่เขานั่งทุกข์แบบนี้มา 3 ปี แน่นอนครับช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เขาแทบไม่ได้ทุ่มเทเวลา กำลังสมองของเขาในการทลายข้อจำกัดนี้เลย ทั้งที่เมื่อผมลงไปวิเคราะห์ดูแล้วพบว่า ด้วยจำนวนพนักงานที่มีอยู่ อาจไม่มากนัก แต่เพียงพอในการทำเป้าหมายหลายประการให้สำเร็จ แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ทรัพยาการเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเต็มประสิทธิภาพที่มี