คำว่า ปลูกฝังจิตสำนึก เป็นอีกหนึ่งคำที่ผมได้ยินบ่อยครั้งมากในการเข้าไปรับฟังความต้องการของฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรต่างๆ ก่อนที่จะออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับพนักงานในแต่ละระดับ โดยเฉพาะในช่วงที่ผมเริ่มทำงานที่ปรึกษาปีแรกๆ เมื่อไหร่ที่ได้ยินคำนี้ ในใจของผมก็เกิดความรู้สึกบางอย่างที่ค่อนข้างสวนทางกันเองขึ้นมาเป็นประจำ จนหลายครั้งทำให้ผมปวดหัวจี๊ดขึ้นมาทันที
ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้น คือ น่าดีใจที่ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องในองค์กรให้ความสำคัญต่อการปลูกฝัง เรียนรู้และพัฒนาให้กับพนักงาน อยากให้พนักงานเกิดวิธีคิดที่เหมาะสมในการทำงาน และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของตนเองได้เป็นอย่างดี
ความรู้สึกที่สอง คือ เรื่องสำนึกอะไรแบบนี้ ต้องสอนด้วยเหรอ มันควรเป็นความคิดพื้นฐานที่เราทุกคนควรจะมีอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ ตั้งแต่ผมเกิดขึ้นมาจนอายุเท่านี้ ก็ไม่เห็นจะมีใครต้องมานั่งพร่ำสอนเลยว่าต้องมีสำนึกพวกนี้นะ ถ้าไม่มีจะเป็นอย่างนั้นนะ ถ้ามีจะช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างโน่นนะ
ความรู้สึกที่ สาม คือ คำว่าจิตสำนึกมันเป็นเรื่องที่กว้างมาก ถ้าเราจะต้องสอน เราจะหยิบประเด็นไหนมาออกแบบเป็นหลักสูตรที่ดี ตามมาตรฐานที่องค์กรลูกค้าคาดหวัง ถ้าทำออกมาดี ลูกค้าก็จะได้มีหลักสูตรที่มีคุณภาพสามารถเอาไปใช้ต่อยอดได้ในองค์กร วันหลังให้วิทยากรภายในบรรยายเองก็ได้จะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ
แต่ถ้าทำออกมาได้ไม่ดี ก็คงกลายเป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพทั่ว ๆ ไป ไม่เห็นความแตกต่าง และคงเป็นอีกหนึ่งหลักสูตรที่น่าเบื่อพอสมควร แน่นอนผมในฐานะคนที่ต้องรับผิดชอบในการออกแบบหลักสูตรคงไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นแน่นอน
เพราะฉะนั้นประเด็นแรกที่ผมต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า การปลูกฝังจิตสำนึก อะไรคือ จิตสำนึกขั้นพื้นฐานที่คนทำงานควรต้องได้เรียนรู้ ถ้าคนทำงานมีหลักคิดแบบนี้จะช่วยให้พวกเขาสามารถเจริญเติบโตก้าวหน้าขึ้นไปในองค์กรได้ตามลำดับขั้น และจิตสำนึกที่พวกเขาได้เรียนรู้ต้องสามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเอง
การดำรงชีวิตและต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมรอบตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นั่นคือ ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปนานเพียงใด เรื่องพวกนี้ยังคงมีความสำคัญ และไม่ล้าสมัยในอนาคต อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้นี้ที่กำลังจะมาถึง
โชคดีที่งานของผมได้เจอผู้คนเยอะแยะมากมายในตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมเห็นคนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อยๆ คนที่เพิ่งประสบความสำเร็จตอนที่อายุมากแล้ว ผมพบเจอคนที่ล้มเหลวจนหมดสิ้นเนื้อประดาตัว เจอคนที่เคยรุ่งโรจน์เป็นดาวดัง ต้องตกอับกลายเป็นคนหมดสิ้นทุกอย่าง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในตนเอง สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้คำว่า จิตสำนึก สำหรับตัวผมชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นหลักสูตรการปลูกฝังจิตสำนึก สำหรับผมนั้น คือ การเรียนรู้จิตสำนึก 6 ด้าน ที่ถือเป็นจิตสำนึกขั้นพื้นฐานท่านผู้อ่านสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาตนเองให้ก้าวจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งที่ดียิ่งขึ้นได้ในเกือบทุกโอกาส
1. จิตสำนึกเรื่องความปลอดภัย (Sense of safety)
ความปลอดภัย ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมันส่งผลกระทบด้านลบตามมาหลายด้าน โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก เครื่องมือ หรือ อุปกรณ์ต่างๆก็มีความสลับซับซ้อน หลายอย่างก็มีความแหลมคม วัตถุดิบก็มีฝุ่นละออง มีสารเคมีอันตราย ในกระบวนการทำงานก็มีขั้นตอนการทำงานที่ค่อนข้างละเอียด มีกากของเสีย สารพิษ ที่หลุดรอดออกมาจากกระบวนการผลิต
ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าในกระบวนการทำงานของโรงงานมีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงได้เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลยที่ว่า โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐานต่างให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องนี้ให้กับพนักงานและผู้บริหารทุกคน และจะเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ป้ายติดภายในโรงงานระบุว่า โรงงานแห่งนี้ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเลยมาแล้วกี่วัน ยิ่งนานยิ่งดี
การสร้างจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัย มี2ประเด็นที่น่านำมาวิเคราะห์ คือ
1. ทั้งที่เรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับตัวเองเกือบ 100% คือ มนุษย์ส่วนใหญ่จึงควรที่จะต้องใส่ใจ ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นอยู่แล้ว เพราะถ้าตนเองไม่มีจิตสำนึกเรื่องนี้ ผลเสียทั้งหมดก็จะกระทบกับตนเองเกือบทั้งหมดทั้ง บาดเจ็บ พิการ เสียค่าเสียหาย หรือหนักมากก็เสียชีวิต หนำซ้ำยังทำให้คนที่ตัวเองรัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน คนที่อยู่รายรอบตัวเองประสบชะตากรรมเลวร้ายไปด้วย จิตสำนึกเรื่องนี้จึงควรมีอยู่ในตัวเราทุกคนตั้งแต่ช่วงต้นของวิวัฒนาการของการเป็นมนุษย์เมื่อหลายล้านปีมาแล้ว ไม่เห็นต้องมาเน้นย้ำ ตอกย้ำกันอีกเลย
2. แต่ในความเป็นจริง ก็คือ จากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมแบบไทยๆ หรือ ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศเอเชียที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรลงมา ซึ่งมีภูมิประเทศที่ไม่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากนัก ไม่ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดภายใต้สภาพอุณหภูมิที่โหดร้าย ทำให้เราชีวิตแบบสบายๆ ไม่เคร่งครัดในกฎระเบียบ ใช้ชีวิตตามความพึงพอใจเป็นหลัก โดยหลายครั้งทำให้เรายังคงนำวิธีคิดวิธีปฏิบัติเหมือนตอนที่เราอยู่ที่บ้านมาใช้ในการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งนั่นจึงเป็นที่มาของอุบัติเหตุในโรงงาน
การปลูกฝังให้เห็นคุถค่าของเรื่องความปลอดภัยในโรงงาน จึงต้องเน้นย้ำในเรื่องของการปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานที่ได้มีการออกแบบไว้อย่างละเอียดมาแสดงให้พนักงานเห็นว่า การไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบที่ออกมาจะนำไปสู่ความเสียหายด้านใดบ้าง โดยเริ่มต้นจากผลกระทบต่อตัวพนักงานเองเป็นหลักสำคัญ เราชี้ให้พนักงานเห็นว่าจุดไหนเป็นจุดเสี่ยง จุดสำคัญ จุดที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง เพราะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายประการ เน้นย้ำพนักงานอยู่เสมอทั้งในเรื่ององค์ความรู้
การฝึกปฏิบัติและการลงพื้นที่จริงเพื่อให้พนักงานเห็นภาพอย่างชัดเจน รวมถึงสิ่งสุดท้ายที่ต้องเน้นย้ำคือ บทลงโทษ ที่ต้องบังคับใช้เพื่อพนักงานไม่แสดงออกถึงความรับผิดชอบ ความใส่ใจ ที่เพียงพอในการทำงานในขั้นตอนต่างๆของตนเอง
2. จิตสำนึกเรื่องความเร่งด่วน (Sense of emergency)
บ่อยครั้งที่เรามักพบว่าพนักงานจำนวนหนึ่งเมื่อได้รับการมอบหมายงานใหม่ มักมีคำพูดติดปากตนเอง คือ ไม่สามารถรับงานเพิ่มได้อีกแล้ว เพราะมีงานค้างอยู่เยอะ ทำไม่ทัน แน่นอนครับเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีพนักงานส่วนหนึ่งที่ได้รับมอบหมายงานที่มีปริมาณเยอะเกินไป (Over load) แต่ในความเป็นจริงก็คือ ยังมีพนักงานอีกส่วนหนึ่งที่มีปริมาณเยอะพอสมควรในองค์กรไม่ได้มีงานเยอะขนาดที่จัดการให้เสร็จในเวลาทำงานปกติไม่ได้
เพราะเท่าที่สังเกต คนกลุ่มนี้ยังคงมีเวลานั่งเล่นมือถือ แชตไลน์ เปิด Facebook เดินไปหยอกล้อ เม้าท์มอยกับเพื่อน โดยที่ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับงานที่บ่นว่าเยอะอยู่เลย พวกเขาทำราวกับว่างานทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายมานั้น มีความสำคัญความร่งด่วนเท่ากันหมดเลย หรือ เขาอาจจะคิดว่าไม่มีงานที่มีความสำคัญ หรืองานที่เร่งด่วนสำหรับเขาเลยก็เป็นได้
จิตสำนึกเรื่องความเร่งด่วน เป็นสิ่งที่เราจะพูดคุยกับพนักงานของเราว่า ในการทำงานนั้น สิ่งที่มนุษย์เราทุกคนมีจำกัดเหมือนกัน คือ เวลา ดังนั้นการจะใช้เวลาที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่า มีประสิทธิภาพมากที่สุด เราทุกคนจำเป็นต้องแยกแยะได้ว่า อะไรคือ 1. งานที่มีความสำคัญและเร่งด่วน 2. สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน 3. ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน 4. ไม่สำคัญ ไม่เร่งด่วน
ในความหมายของ Sense of Emergency สิ่งที่เราให้ความสนใจ คือ งานที่มีความสำคัญและเร่งด่วน แปลว่า งานชิ้นนี้มีผลกระทบสูงต่อเป้าหมายที่คุณตั้งไว้ ถ้าคุณทำมันได้ดีหรือไม่มี มันจะสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลให้กับสิ่งที่คุณตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนั้นแล้ว มันยังมีเวลาที่เป็นตัวเร่งรัด จำกัดให้คุณต้องลงมือทำอะไรบางอย่างกับงานชิ้นนั้น
เดี๋ยวนี้ ตอนนี้ วินาทีนี้ มิฉะนั้นแล้ว คุณก็จะสูญเสียอะไรบางอย่างที่จะทำให้งานนั้นสำเร็จเสร็จสิ้นออกมาได้ในปริมาณและคุณภาพตามที่คุณต้องการ เช่น รายงานสำคัญต้องนำเสนอภายในพรุ่งนี้เช้า เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในโรงงาน ลูกค้ารายใหญ่นัดหมายเข้ามาพูดคุยเรื่องการจัดซื้อสินค้า lot ใหญ่บ่ายนี้
ถ้าคุณรู้ความหมายของงานนั้นว่ามีความสำคัญ และมีความเร่งด่วน พร้อมทั้งยังมี จิตสำนึกของความเร่งด่วน อยู่ในตัวเองแล้ว คุณต้องแสดงพฤติกรรม คือ วางมือจากอะไรก็ตาม ที่คุณกำลังทำอยู่ตอนนั้นเพื่อไปทำงานที่มีความสำคัญและเร่งด่วนกว่า ไม่ใช่ว่าทำตัวเรื่อยๆ เอื่อยๆ ขาดความกระตือร้น ไม่ได้แสดงอออกถึงความทุ่มเทอย่างเต็มที่ แบบนั้นเราไม่เรียกว่ามี Sense of emergency
3. จิตสำนึกเรื่องความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of belonging)
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันพอสมควรว่า มันจะเป็นไปได้ยังไงให้คนที่เป็นลูกจ้าง เป็นพนักงานงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ เพราะในความเป็นจริงแล้วพวกเขาก็รับรู้ได้ว่าทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นลูกจ้างอยู่เหมือนเดิมแต่สำหรับผมแล้ว เรื่องพวกนี้อยู่ที่วิธีคิดของคน เพราะในความหมายของการมีจิตสำนึกความรู้สึกเป็นเจ้าของนั้น มีความหมายที่มากกว่ามมิติของการเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่มันขยายความถึง ความทุ่มเท ความรับผิดชอบ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในสิ่งที่เกี่ยวพันกับตนเองเกือบทั้งนั้น
ผมอยากให้ลองมองในมุมมองที่ว่า การที่องค์กรจ่างค่าจ้างให้เรา ก็เสมือนว่าเขากำลังซื้อสินค้าจากเรา โดยสินค้าของเราที่เขาต้องการนั้น อาจไม่ใช่สินค้าเช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นสินค้าที่จับต้องได้ แต่สินค้าของเราที่ขายให้องค์กรของเรา คือ งานบริการ ความเป็นมืออาชีพ การมีจิตสำนึกของเจ้าของ คือ การที่คุณแสดงออกถึงความพยายาม ความทุ่มเทในการส่งมอบงานบริการ หรือความเป็นมืออาชีพของคุณให้ดีที่สุด ในคุณภาพและปริมาณที่องค์กรต้องการ ภายใต้ทรัพยากรขององค์กรที่คุณกำลังใช้อยู่
ถ้าคิดในมุมมองของเจ้าของ เท่ากับว่าคุณกำลังเช่าทรัพยากรขององค์กรใช้อยู่ ผมเชื่อว่าถ้าคุณต้องจ่ายเงินค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าอุปกรณ์ต่างๆด้วยเงินที่จ่ายจริงของตัวเอง เราทุกคนคงไม่ยอมเปิดไฟทิ้งไว้ เปิดน้ำทิ้งไว้ ใช้กระดาษ A4 อย่างฟุ่มเฟือย ไร้ประโยชน์เป็นแน่
เพียงเท่านี้เองที่องค์กรคาดหวังให้พนักงานมีความรู้สึกของการเป็นเจ้าของ แน่นอนครับ ในความเป็นจริงการสร้างจิตสำนึกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจะทำให้พนักงานมีจิตสำนึกเรื่องนี้ได้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าองค์กรก็ต้องทำให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรเห็นความสำคัญ และจริงใจในการดูแลพนักงานอย่างดีเพียงพอ เพราะในความเป็นจริงแล้วหลายองค์กรก็ตอบแทนพนักงานในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน
แล้วครั้งหน้าเรามาต่อกันในตอนที่ 2 อีก 3 จิตสำนึกที่มีความสำคัญมากพอๆกันนะครับ