นักไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร
( ตอนที่ 7 : ความหมายของ “นักไกลเกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร” )
โดย อ.นพพล นพรัตน์ (CEO, Acrosswork)
หากกล่าวตามหลักความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเราคงสามารถพูดได้อย่างชัดเจนว่าถ้ามนุษย์สามารถเลือกได้ คงไม่มีใครอยากให้เกิดความขัดแย้งขึ้นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องอะไรก็ตาม ทุกคนปรารถนาให้เกิดความสงบสุข ราบรื่นในการทำสิ่งต่างๆในชีวิต แต่อย่างที่เราทราบกัน ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับมนุษย์มาเป็นเวลาช้านาน หรืออาจจะกล่าวได้ว่าถือกำเนิดมาพร้อมกับสังคมมนุษย์ เป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่มีความแตกต่างกันนานัปการและต้องมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน
เมื่อเราไม่สามารถห้ามความขัดแย้งให้เกิดขึ้นได้ เราก็ควรหันกลับมาให้ความสนใจกับกระบวนการหรือวิธีจัดการกับความขัดแย้งไม่ให้ขยายวงกว้างจนเกิดความรุนแรง สร้างความบาดหมางระหว่างกัน
กระบวนการจัดการความขัดแย้งที่นำมาใช้ในปัจจุบันโดยเฉพาะในชั้นของกระบวนการยุติธรรม ก่อนที่เรื่องจะเข้าสู่การพิจารณาของศาล จะมีกระบวนการที่เรียกว่าการไกล่เกลี่ย ประนีประนอม โดยผู้ประนีประนอมซึ่งไม่มีอำนาจในการตัดสินความ แต่มาช่วยในการเป็นคนกลางปรับความเข้าใจกับคู่กรณีทุกฝ่าย หากสามารถไกล่เกลี่ยตกลงกันได้ ก็จะได้ไม่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลในลำดับต่อไป อันเป็นการลดภาระการทำงานของศาล และช่วยให้คู่กรณีทุกฝ่ายไม่ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากที่จะตามมาตลอดการต่อสู้กันในกระบวนการยุติธรรม
ที่สำคัญเมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลจะต้องมีคำพิพากษาตัดสินคดีความออกมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การชี้ขาดทำให้เกิดผู้แพ้และผู้ชนะ สิ่งนั้นจะนำไปสู่ความสูญสิ้นของความสัมพันธ์ที่เคยมีมาในอดีตของคู่กรณี
ความหมายของ “นักไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร”
บุคคลที่ 3 ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางในการจัดกระบวนการพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจระหว่างคู่กรณี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยุติความขัดแย้งภายในองค์กร ทำให้คู่กรณีสามารถปรับความเข้าใจ และกลับมาอยู่ร่วมกันในองค์กรได้อย่างปกติสุข
ทำไมองค์กรต้องการ “นักไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง”
การทำงานในองค์กรทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่มคนต่าง ๆ เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างร่วมกัน และอย่างที่เรา ทุกคนเห็นตรงกันแล้วว่าหลายครั้งในองค์กรก็เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาอยู่เสมอ การมีทางออกเตรียมไว้เมื่อองค์กรเกิดปัญหาความขัดแย้ง จึงเป็นบทพิสูจน์แสดงให้เห็นถึงกระบวนการคิด มุมมองในการพัฒนาองค์กรสมัยใหม่ของผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง
สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างสูงในกระบวนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร คือ การสร้างและพัฒนา “นักไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร” เพื่อให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และทัศนคติที่สอดคล้องกับบริบทของการจัดการความขัดแย้งภายในองค์กรที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันและอนาคตที่กำลังจะมาถึง
จากนิยามความหมายที่กล่าวมา ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า นักไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร จะต้องรับบทบาทสำคัญในการนำสันติสุขคืนสู่องค์กร ซึ่งถือเป็นภารกิจที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง
ในบทความหน้าเรามาเข้าใจ .. >>> บทบาทของผู้นำในฐานะนักไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร <<< ..
* Acrosswork กำลังจะมีโครงการ Internal Mediator Certificate Program (ประกาศนียบัตรนักไกล่เกลี่ยความขัดแย้งภายในองค์กร) *